Home Shop Mag'z Member Basket Thai / English Site Map
Webboard Book Toy Music Movie
Index
  >  home >  movie >  VCDReview > 
    The Children of Heaven : เด็กดีจริงน้อโดย ระพีพงศ์ สุพรรณไชยมาตย์ : www.budpage.com
ใกล้จะสงกรานต์แล้วครับ ทางการไทยกำหนดให้เป็นวันครอบครัวด้วย ผมขอเสนอแนะว่ากิจกรรมวันครอบครัวหลังจากรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่แล้ว ก็เอา The Children of heaven ไปเปิดดูกันทั้งครอบครัวครับ รับรองว่าสนุกสนานกินใจ และแฝงประเด็นลึกซึ้งไว้ในคราวเดียวกัน น่าจะเสริมความสุขของผู้อ่านและคนรอบข้างได้เป็นอย่างดี

ทำไมผมจึงเชียร์เรื่องนี้นัก? คำตอบง่ายๆครับเพราะผมชอบมากๆ และคิดว่าเรื่องนี้ดีจริงๆ แต่ที่น่าตกใจมากกว่านั้น คือ The Children of heaven สร้างจากประเทศอิหร่านครับ ประเทศมุสลิมที่น่าจะวุ่นวายจากเรื่องราวสงครามอยู่บ่อยๆ หรือดูๆแล้วว่าเป็นประเทศที่คงต้องอยู่ด้วยความระแวดระวังโดยแท้ ตามข่าวที่เราเห็นๆกันมาตั้งแต่สงครามอ่าวเปอร์เซียในทุกครั้ง

The Children of heaven เข้าบางกอกฟิล์มเฟสติวัลปีที่แล้วครับ ตอนนี้ลงเป็นวีซีดีแล้วอาจจะหายากหน่อยแต่ก็คุ้มที่จะหามาชม ความจริงหนังเรื่องนี้ทำมาตั้งแต่ปี '97 แต่กว่าจะเวียนมาถึงบ้านเราหรือที่อเมริกาก็นานพอทน ถึงอย่างไรแม้จะพลาดจากเวทีออสการ์แต่ก็ได้รางวัลจากสถาบันอื่นๆติดไม้ติดมือบ้าง

ภาพยนตร์เรื่องนี้กำกับโดย มาจิด มาจิดี ผู้กำกับชาวอิหร่านที่ทำหนังเรื่องนี้ออกมาได้อย่างประณีต ด้วยพลอตเรื่องง่ายๆที่กล่าวถึงครอบครัวยากจนครอบครัวหนึ่งในชานเมืองกรุงเตหะราน และการผจญภัยเล็กๆของหนูน้อยวัย 9 ขวบ "อาลี" (โมฮัมเม็ด เอมีร์ นาจี) กับซารา(บาฮารี เซดิจิ) น้องสาวของเขา

เรื่องราวทั้งหลายเกิดขึ้น เมื่ออาลีนำรองเท้าผ้าใบสีชมพูคู่เดียวของ ซาราไปซ่อม แต่ด้วยอุบัติเหตุบางอย่างที่ทำให้เขาทำรองเท้านั้นหายไป อาลีกลับมาหาซารา สารภาพผิดกับเธอ ซาราเองก็เสียใจแทบร้องไห้ เพราะเธอมีรองเท้าผ้าใบเพียงคู่เดียวที่ต้องใส่ไปโรงเรียน ครั้นจะบอกพ่อกับแม่นั้น ก็เลิกคิดเลยครับ ด้วยฐานะทางเศรษฐกิจของพ่อของเขาอย่าว่าแต่จะซื้อรองเท้าเลย แค่จะยาไส้กันไปวันๆก็น่าเห็นใจแล้ว (ลืมบอกไปครับครอบครัวนี้มีลูก 3 คน อีกคนยังแบเบาะอยู่เลย)

ด้วยความที่ไม่อยากให้พ่อแม่ลำบาก แถมพ่อเองก็ดุชะมัด ถ้าเรื่องแดงละโดนทำโทษกันแน่ อาลีกับซาราจึงคิดแผนการ(อันยอดเยี่ยมตามประสาเด็ก) ขึ้น ซาราเข้าเรียน ป. 1 ตอนเช้า แต่อาลีเริ่มคลาส ป. 3 ตอนบ่าย(ผมไม่เข้าใจเท่าไรนักว่าหลักสูตรประเทศอิหร่านนี่เรียนกันครึ่งวันเหรอ แต่ถ้าเป็นอย่างนั้น ถ้าจะดีมากๆเลยไม่ต้องเรียนวันละ 7 ชั่วโมงแบบเด็กป. 1 เรา) แผนการของเขาคืออาลีจะให้ซาราใส่รองเท้าของเขาไปโรงเรียนตอนเช้าและในตอนกลางวัน ซาราต้องวิ่งใส่เกียร์ห้าจากโรงเรียนเอารองเท้ากลับมาให้เขาแล้วก็เป็นหน้าที่ของอาลีที่จะต้องวิ่งสปีดสุดชีวิต ข้ามกรุงเตหะรานไปให้ทันเข้าเรียน

แม้พลอตเรื่องจะดูง่าย แต่รายละเอียดของหนังมีมากกว่านี้มากนักครับ ท่ามกลางการวิ่งร้อยเมตร(ความจริงคงเป็นกิโล)ของเด็กทั้งสอง หนังมีประเด็นสอดแทรกมากมาย ตั้งแต่การไปโรงเรียนแบบเฉียดฉิวหลายครั้งของอาลี รองเท้าคู่เดียวของสองพี่น้องที่เริ่มจะขาดวิ่นหลังผ่านการวิ่งข้ามเมืองหลายครั้ง เรื่องราวความมีน้ำใจตลอดเส้นทางวิ่งของชาวอิหร่านในเตหะราน รวมถึงไคลแมกซ์ของเรื่องที่อาลีขอลงแข่งมาราธอนจังหวัดในนามโรงเรียน ด้วยความมุ่งหวังว่าหากได้ที่สามจะได้รองเท้าคู่ใหม่มาให้น้องสาว เพราะรองเท้าผ้าใบสุดเก๋คู่นี้เป็นรางวัลของผู้ที่ได้ที่สาม แม้รางวัลที่หนึ่งกับที่สองจะเป็นอะไรที่หรูเริดอลังการ แต่อาลีไม่สน รู้อย่างเดียวว่าห้ามชนะเลิศ ห้ามแพ้ ต้องได้ที่สาม!

ความงดงามที่สุดของหนังเรื่องนี้จึงอยู่ที่ "จิตใจ" ครับ ไม่ใช่ฉากสวยๆ เพลงประกอบที่แสนไพเราะของหนัง ทั้งหมดนี้งดงามก็จริงแต่ไม่เท่ากับจิตใจของตัวละครที่อยู่ในหนัง

อาลี และซาราเป็นตัวอย่างที่น้องๆหลายคนควรดูไว้เป็นตัวอย่าง ด้วยการที่ช่วยแบ่งเบาภาระพ่อแม่เต็มที่ และแม้จะยากจนเพียงใด หรือต้องทุกข์ทรมาน(จากการวิ่งข้ามเมือง)เพียงใด หรือบางครั้งก็ทะเลาะกันตามประสาเด็ก แต่ความรักที่มีให้กันนั้นลึกซึ้งกินใจ อาลีเองก็เป็นสุภาพบุรุษที่น่ายกย่อง กล้าที่จะสารภาพผิดและพยายามทำเพื่อน้องสาวเต็มที่ ทั้งนี้ยังไม่นับภาพที่เห็นจากสังคมในกรุงเตหะราน การเป็นอยู่ที่เรียบง่าย และแบ่งปัน แม้จะยากจนพอๆกันทั้งนั้น ทำให้เราเห็นว่าภาพสังคมมุสลิมที่เรารับรู้บางอย่างจากสื่อกับความเป็นจริงนั้นแทบจะคนละเรื่องกันเลย

สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่น่ายกย่องมากๆครับ แม้จะขัดสนเงินทอง ใช่ว่าจะขัดสนจนน้ำใจให้กัน ล่าสุดนิตยสาร TIMES นิตยสารชื่อดังของอเมริกาได้เขียนเรื่อง The Science of Happiness ซึ่งกล่าวถึงงานวิจัยที่ทำโดยจิตแพทย์กลุ่มหนึ่ง หาความสัมพันธ์ระหว่างความสุขกับฐานะทางเศรษฐกิจ (คิดความสุขจากสเกลทางจิตเวชกับรายได้เป็น US Dollar ) พบว่าความสุขกับฐานะทางเศรษฐกิจจะเป็นสัดส่วนไปด้วยกัน แต่เมื่อถึงระดับหนึ่งเงินตราจะเพิ่มความสุขไม่ได้นัก เรียกว่าตอนแรกถ้าพลอตกราฟเงินกับความสุขกราฟจะชันๆตอนแรกแต่ต่อมาจะจะชันน้อยลงๆจนเริ่มแบนราบ นักวิทยาศาสตร์กลุ่มนั้นก็พยายามหาทางอธิบายความสัมพันธ์นี้ โดยหนึ่งในหลายคำอธิบาย คือ การรวมกลุ่มไม่แยกเป็นปัจเจกในชุมชน และการแบ่งปัน แถมค้นพบด้วยว่าประเทศตะวันออกหลายประเทศที่ยากจน เช่นอินโดนิเซีย ลาว อิหร่าน มีระดับความสุขสูงใกล้เคียงกับประเทศร่ำรวยมากๆ (น่าเสียดายที่ไม่จัดอันดับประเทศไทยไว้ รู้สึกว่าประเทศที่ได้ที่หนึ่งจะเป็นเนเธอร์แลนด์)

ถ้าคุณพ่อคุณแม่ดูเรื่องนี้พร้อมกับคุณลูก น่าจะสอนลูกๆให้รู้จักการเรียนรู้ที่จะให้และการแบ่งปันเหมือนอย่างอาลี ไม่ต้องทำอะไรมากมาย แค่สอนให้พูด ขอบคุณ หรือขอโทษเมื่อทำผิด เดี๋ยวนี้หลายบ้านมีคนรับใช้ที่คอยจัดข้าวจัดของให้ คุณแม่ควรสอนให้ลูกๆรู้ว่าพี่ๆเหล่านี้มีพระคุณต่อเรา ควรจะขอบคุณพี่ๆเหล่านี้เสมอๆ (ไม่ใช่พาลูกดูหนังไทยตอนเย็น แล้วก็ไม่สอนอะไร เดี๋ยวน้องๆเขาพาลจะจำภาพที่ตัวอิจฉาดุด่าเด็กรับใช้ในบ้านไปโดยไม่รู้ตัว) ทั้งนี้พ่อแม่ต้องตาไวหูไวทันที "ตกรางวัล" เมื่อลูกทำดี เช่น ตื่นนอนตอนเช้าแทนที่จะรีบแจ้นลงไปกินข้าว ก็ควรจัดผ้าห่มที่นอนก่อน แรกๆอาจจะต้องจี้บ่อยๆ แต่จากนั้นพอลูกๆทำก็ ตกรางวัลทันทีโดยจะชมหรือจะกอดก็ได้ (เทคนิคนี้ผมเคยเขียนไว้นิดหน่อยครับ เป็นเรื่องที่ผมเคยอ่านจากคุณหมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ อาจารย์แพทย์ที่ผมนับถือ คุณหมอเขียนไว้หลายเล่มตามร้านหนังสือทั่วไป ผู้อ่านลองไปหาดูนะครับ น่าจะละเอียดและมีประโยชน์กว่าที่ผมเขียนนัก)

ในเรื่องน่าแปลกนะครับที่อาลีกับซารานั้นเฉลียวฉลาดมากทั้งๆที่ไม่ต้องไปเรียนกวดวิชาหรือมีคอมพิวเตอร์ช่วยเรียนที่บ้าน เด็กทั้งสองไม่เคยเล่นคอมพิวเตอร์ อย่างมากได้แต่นั่งเป่าฟองสบู่เล่น กับช่วยคุณแม่ทำงานบ้านนี่เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับเด็กๆครับ สมองของเด็กๆมีการพัฒนามากในช่วง0-6 ขวบ คุณพ่อคุณแม่หลายคนก็รู้ ก็เล่นพาคุณลูกไปเรียนใหญ่เลย ฝึกภาษาอังกฤษ เล่นคอมพิวเตอร์ จนบางครั้งทำให้หนักไปด้านใดด้านหนึ่งเกินไป

ผมยังไม่เป็นพ่อคน แต่ในทางการแพทย์เท่าที่ผมเรียนมาและเสวนากับผู้รู้มาบ้าง การพัฒนาสมองและอารมณ์จิตใจนั้นต้องไปพร้อมๆกันครับ ปล่อยให้เป็นตามธรรมชาติ และเป็นตามอิสระของเด็ก ผมยกตัวอย่างนะครับ เช่น เด็กที่ดูนิทานเรื่องสโนไวท์ ที่ดิสนีย์ทำ กับ คุณพ่อคุณแม่อ่านเรื่องสโนไวท์ให้ฟัง การดูสโนไวท์เด็กจะรับรู้และมีอิมเมจสโนไวท์ในการ์ตูน ได้ใช้สมองด้านความจำ แต่เด็กที่คุณพ่อเล่าให้เขาฟังแล้วกระตุ้นให้เขาลองจินตนาการภาพสโนไวท์ที่ได้ฟังมา ได้ประสานการเรียนรู้ผ่านทางโสตสัมผัส ผ่านจินตนาการ ไม่ใช่แค่ความจำ รวมทั้งความอบอุ่นที่ได้จากพ่อแม่ สมองเรามีเครือข่ายถึงกันหมด ยิ่งเชื่อมโยงกันมากเท่าไร(สมองส่วนรับรู้ด้วยตาทำงาน ,ส่วนที่เรียนรู้เรื่องความรักทำงาน, ส่วนความจำก็ทำงาน ,ส่วนคิดเป็นภาพเรื่องสามมิติ ทำงาน ส่วนแปลความเสียงก็ทำงานพร้อมกัน) ยิ่งเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาของเด็กมากเท่านั้น ทั้งนี้จะพลิกแพลงเรื่องอะไรก็ได้หลายอย่างสุดแท้ ไม่จำเป็นต้องทำตามหนังสือ ว่า "นิทานเรื่องนี้สอนว่า…." ลองให้ลูกๆคิดดูว่าเรื่องนี้สอนอะไรตามที่ลูกคิดก็ได้

ยิ่งสามารถประยุกต์เรื่องราวปัจจุบันมาสอนได้เลยครับ เช่น ลองถามลูกว่าถ้าเราเดินไปตลาดกับคุณแม่ กับนั่งรถเก๋งไปตลาดอย่างไหนจะประหยัดมากกว่ากัน อย่างไหนได้ออกกำลัง ถามเท่านี้ละครับ เด็กได้ใช้สมองด้านการวิเคราะห์ไม่น้อยไปกว่าการคิดเลขในโรงเรียนกวดวิชา เห็นคนกวาดถนน ก็สอนให้ลูกๆดูเป็นตัวอย่างของการรักความสะอาด แล้วก็ให้ลองทำที่บ้านดู แค่ในห้องครัว หรือห้องนอนก็ได้ ไม่ต้องทั้งบ้านครับ ดีกว่าที่จะสอนหนูๆว่า "ให้เรียนเก่งๆนะ โตขึ้นจะได้สบายๆไม่ต้องลำบากมากวาดถนน" คุณพ่อคุณแม่ไม่จำเป็นต้องลงทุนอะไรมากเลยครับ แต่ผลที่ได้มหาศาลยิ่งนัก

ไม่คิดเลยว่าโยงไปไกลขนาดนี้ เอาเป็นว่าผมคิดว่าหนังเรื่องนี้มีประโยชน์มาก จะแม่ดูกับลูกๆ พี่ดูกับน้อง คนมุสลิมดูกับคนพุทธ (หรือคนที่นับถือศาสนาอื่นใดก็ได้) ก็เป็นประโยชน์ทั้งนั้น ข้อคิดบางอย่างเอามาเขียนลงลำบากเพราะเป็นเรื่องของความรู้สึกตื้นตัน แบ่งปันให้กัน ซึ่งทุกคนล้วนมีความทรงจำเหล่านั้นทั้งสิ้น ขอให้ความรู้สึกนี้มีด้วยกันบ่อยๆ ไม่ใช่เฉพาะสงกรานต์ที่จะมาถึง แต่เป็นทุกวินาทีและทุกลมหายใจนะครับ
 

Top
E-Mail

Password


Community
Activity
Photo Contest
Bey Blade
Cartoon 9
Chat Room
D-3
D-Terminal
D-Power
Digimon
Download
Market Place
Micro pet
Quiz
Can not select dB