Home Shop Mag'z Member Basket Thai / English Site Map
Webboard Book Toy Music Movie
Book
  >  home >  book >  บทความ > 
    ทฤษฎี มาเฟีย ของนกในวงศ์นกคัคคู
ทฤษฎี มาเฟีย
ของนกในวงศ์นกคัคคู

นักวิจัยเกี่ยวกับพัฒนาการของสิ่งมีชีวิตของมหาวิทยาลัย เกรนาดา ชื่อ มานูเอล โซเลอร์ (Manuel Soler) ได้ใช้เวลาทุกๆ ฤดูใบไม้ผลิ ตลอดระยะเวลา 14 ปีที่ผ่านมาปีนขึ้นไปตามต้นไม้ในวงศ์ต้นเกาลัด ที่ขึ้นอยู่ตามที่ราบสูงตามชายฝั่งทะเลด้านทิศใต้ ของประเทศสเปน เพื่อค้นหารังของนกในวงศ์นกกางเขนดง เมื่อพบก็จะก้มลงไปสำรวจในรัง เขาไม่ได้สนใจไข่ของนกกางเขนดงหรอก แต่สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ผู้นี้สนใจคือ สิ่งที่เข้ามาหาประโยชน์จากรังนกชนิดนี้ต่างหาก หลักฐานก็คือ ไข่ของนก Great Spotted cuckoo ที่แอบมาวางปะปนอยู่กับไข่ของนกเจ้าของรังนั่นเอง เจ้านักฉวยโอกาส ที่ชอบเข้ามายักย้ายถ่ายเท โดยลอบเข้ามาตีท้ายครัวนกอื่นที่กำลังฟักไข่อยู่ด้วยการวางไข่ของมันเอง แทรกเข้าไปในไข่ของชาวบ้านเขา ตอนที่นกเจ้าของบ้านเผลอทิ้งบ้านไว้ออกไปหากิน

มันทำได้อย่างไร ? เพื่อหาคำตอบในเรื่องนี้ นายโซเลอร์ ได้ทดลองนำไข่ของนกคัคคูออกมาจากรัง ที่มันลอบไปวางไว้ และ กลับไปตรวจสอบอีกครั้งหลังจากผ่านไป 2 - 3 วัน ผลที่ได้สร้างความตกตะลึงพรึงเพลิดให้ แก่เขาอย่างยิ่ง รังมากกว่าครึ่งหนึ่ง ของรังนกที่เขาเคลื่อนย้ายไข่ของนกคัคคูออกไปถูกทำลาย ส่วนรังอื่นๆ ถึงไม่พัง แต่ก็กระจุยกระจาย ลูกนกกางเขนดงก็ถูกทำร้ายบาดเจ็บด้วย มันดูราวกับว่าเจ้านก Great spotted cuckoo แสดงฤทธิ์เดช เพื่อเป็นการสั่งสอนนกเจ้าของรัง ให้รู้สำนึกว่าอย่าได้กำแหง (....เอาไข่ของข้าไปทิ้ง !!?!%*&#!?)

จากผลการทดลองนี้ได้ข้อสังเกตว่า นกคัคคูมีพฤติกรรมลงโทษ นกเจ้าของรังที่เคลื่อนย้ายไข่ของมัน (ที่มันแอบลอบไปวางปะปนไว้) ออกไป โซเลอร์ได้ตีพิมพ์การค้นพบนี้ โดยเขียนร่วมกัน นักวิจัยสิ่งแวดล้อมคนอื่นอีกคือ Juan Soler, Juan Martinez และ Anders Moller นักวิจัยทางชีววิทยาสิ่งแวดล้อม สถาบัน Pierre and Marie Curie ของมหาวิทยาลัยปารีส เมื่อผลวิจัยนี้ถูกพิมพ์เผยแพร่ออกไป นักวิทยาศาสตร์ท่านอื่นๆ ได้เปรียบเปรยว่า วิธีการที่นกคัคคูซึ่งมีพฤติกรรมเป็นนกกาฝาก ใช้กำลังในการการข่มขู่บังคับ ให้นกเจ้าของรังยินยอมทำตามความต้องการของมัน เป็นวิธีการที่ไม่ต่างอะไรไปจากวิธีของพวกวายร้ายแก๊งมาเฟีย

นกในวงศ์นกคัคคู เป็นนกวงศ์ที่ยอมรับกันว่าเป็นนกที่มีการแพร่กระจายเป็นแนวต่อเนื่องกัน และมีจำนวนมากกระจายไปทั่วโลก แต่ทฤษฎีมาเฟีย ก็เพิ่งจะมาสังเกตกันเมื่อไม่นานมานี้เอง ยังมีการสำรวจกันน้อยมาก ในเรื่องที่นกคัคคูมีวิธีการดำรงเผ่าพันธุ์ของมัน โดยใช้วิธีการอื่นอีกบ้างหรือไม่ บางทีมันอาจเป็นนักล่าด้วย โดยไม่เพียงลอบ ไปวาง ไข่ เท่านั้น เพราะจากรังที่เขาสำรวจ มีบางรังที่มีลักษณะส่อแสดงว่า ไข่ หรือ แม้แต่ลูกนก เจ้าของรัง ถูกกินไปด้วย ซึ่งเป็นเรื่องน่าประหลาดใจ เพราะไม่เคยมีใครคิดถึงเรื่อง ทำนองนี้มาก่อนเลย นายโซเลอร์ ได้ตั้งใจกลับไปสังเกต เพื่อขยายผล การค้นพบที่ผ่านมาเพิ่มเติมอีก

นักปักษีวิทยาท่านอื่น ก็ ค้นพบพฤติกรรมคล้ายๆ กันนี้ ใน นก Great spotted cuckoo ที่ประเทศอิสราเอล แต่ในนก คัคคูพันธุ์ยุโรป (Common cuckoo) ที่สำรวจใน ประเทศญี่ปุ่น ยังไม่พบพฤติกรรมก้าวร้าวในลักษณะดังกล่าว แต่ทฤษฎีมาเฟีย นี้ก็เป็นเรื่องน่าสนใจ และถือเป็นเรื่องใหม่ที่มาไข ความลี้ลับของปัญหา ซึ่ง ครั้งหนึ่งในศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสตกาล อริสโตเติล มหาปราชญ์ ได้เคยเขียนถึงพฤติกรรมประหลาดของนกในวงศ์นกคัคคู เขาได้ตั้งข้อสงสัยว่า เหตุใดนกบางชนิด จึงดูเหมือนว่า เป็นเรื่องปกติธรรมดา ที่มันจะยอมรับไข่ของนกอื่น และ ยอมเลี้ยงลูกนกชนิดอื่น ทั้งๆ ที่ การทำเช่นนั้น เป็นการลดโอกาส ในการแพร่ขยายเผ่าพันธุ์ของมันเอง และ กลับเพิ่ม จำนวนนกชนิดอื่น ที่จะมา แก่งแย่งอาหาร ของมันอีกด้วย

นกคัคคู น่าจะเป็นกรณีศึกษาที่เหมาะสำหรับไขปริศนาลึกลับนี้ นกในวงศ์นกคัคคู เป็นนกวงศ์โบราณมาก ซึ่งมีการแยกสาย วิวัฒนาการ ออกมาเป็นลักษณะเฉพาะ ของมันเอง เมื่อราว 40 -60 ล้านปีมานี้ และ แยกย่อยออก เป็นถึงกว่า 130 ชนิดย่อย ซึ่งต่างก็พัฒนานิสัย เพื่อการอยู่รอด แตกต่างกันออกไป นกในวงศ์นี้ ครึ่งหนึ่ง เป็นนกที่ วางไข่ให้นกชนิดอื่นฟักให้ สันดานเลวแบบนี้ มีในนกชนิดอื่นด้วย เช่น นกในวงศ์กินผึ้ง (honyguides) , whydah finches , นกในวงศ์นก cowbirds ส่วนใหญ่ , เป็ดป่าบางชนิด และนกในวงศ์ troupials . นกที่เป็นนกกาฝากพวกนี้ จะแอบเข้าไปวางไข่ในรังของนกชนิดอื่น และปล่อยให้นกชนิดนั้นฟัก และ เลี้ยงลูกของมัน โดยที่มันจะไม่สนใจใยดี อีกเลย มีข้อสังเกตว่า นกในวงศ์นกคัคคู มีพัฒนาการความสามารถในการเลียนแบบ ไข่ของนก ที่ตกเป็นเป้าหมาย ของมัน จากการที่มันตระเวน ไปสำรวจ ตามรังของนกต่างๆ ไว้แล้ว ยังเป็นเรื่องลึกลับที่ยังไม่ทราบกันว่า ทำไม อวัยวะที่ใช้ในการสร้างเม็ดสีในรังไข่ของนกคัคคู จึงมีความสามารถสร้างเม็ดสีที่เปลือกไข่ ตลอดจนสร้างไข่ ให้มีขนาด และรูปร่าง เลียนแบบของนกเจ้าของรัง ได้แนบเนียน ตามใจนึกทีเดียว

นกคัคคูตัวเมีย จะบินพุ่งเข้าไปในรังที่นกเจ้าของรังเผลอ หรือ ออกไปหากินไกลรัง กำจัดไข่ของนก เจ้าของรัง อาจจะ คาบทิ้ง ไปจากรัง จิกให้แตก หรือแม้แต่กิน แล้วรีบออกไข่ที่เลียนแบบไว้เรียบร้อย วางลงไปแทนที่ แล้วแจวอ้าวเผ่นไป กระบวนการทั้งหมดนี้ใช้เวลา แค่ 10 วินาที !!!?? . หลังจากลูกนกคัคคูฟักเป็นตัว ยังไม่ทันลืมตา ก็จะเริ่มออกลายอันธพาลให้เห็น โดยจะมีสัญชาติญาณ (..สันดานเลวมาแต่กำเนิด) ที่จะใช้ทั้งเอาหลังดัน เอาปีก ที่ขนยัง ไม่ทันขึ้น หรือใช้เท้ายัน เรียกว่าเอาทุกท่า พยายามดัน จนลูกนกเจ้าของรังตกลงไปจากรัง เพื่อที่จะสวาปาม อาหาร ที่พ่อแม่นก นำมาเลี้ยง แต่เพียงตัวเดียวโดยไม่มีมารคอหอย มากวนใจ ชาลล์ดาร์วิน ผู้ค้นพบทฤษฎี วิวัฒนาการ เพื่อความอยู่รอด ของ สิ่งมีชีวิต ได้กล่าวถึงวิวัฒนาการรูปลักษณะนี้ของนกคัคคู ว่า " เป็นวิวัฒนาการที่ไปในทาง ที่น่ารังเกียจ และ เลวไม่มีดีเจือปน "

นักวิทยาศาสตร์ยังไม่รู้แน่ ว่า อะไรคือแรงผลักดัน และเหตุจูงใจอะไร ที่ทำให้นกคัคคูมีพฤติกรรมเช่นนั้น แต่ถ้าคิดอย่างเห็นแก่ตัว และ เข้าข้างตนเอง ก็อธิบายได้ว่า มันจะสบายแค่ไหน ถ้ามีนกชนิดอื่นฟักไข่แทนมัน แถม เลี้ยงลูกให้เสร็จ ทำให้มันจะออกไข่สักกี่ฟองก็ได้ โดยที่มีเวลา และ พลังงานเหลือเฟือ ที่จะดำรงชีวิต ได้อย่าง สดวกสบาย คงยากที่ใครจะทำใจยอมรับว่า นี่คือกฎของวิวัฒนาการเพื่อการอยู่รอดของเผ่าพันธุ์ ที่ถูกทำนอง ครองธรรม ตามมาตราฐานของมนุษย์ แต่ก็ต้องยอมรับว่า ในธรรมชาติไม่มีความถูก หรือ ความผิด มีแต่ ความจริง

นกคัคคู ไม่มีแนวโน้มว่า เป็นนกที่ถูกคุกคามจากศัตรูชนิดใดเลย มันเป็นนกที่รูปร่างเพรียว ลำตัวยาว เกือบหนึ่งฟุต นกคัคคูพันธุ์ยุโรป (Common cuckoo) มีหางยาว หัวเล็ก และ ปากเล็กเรียว นกตัวผู้มีเสียงร้อง "คัก คู " ตามชื่อของมัน พบทั่วไปทุกหนทุกแห่งในทวีปยุโรป และ บางส่วนอพยพไปทางทวีปเอเซียในฤดูหนาว เรื่องราวเกี่ยว กับมัน ปรากฎทั้งในภาพวาด และ บทเพลง บทนิทานพื้นบ้าน มากมาย และที่มีชื่อเสียงกระฉ่อนโลก ก็ เห็นจะเป็น บทเพลงบรรเลง ประพันธ์โดยวาทยากร บีโธเฟ่น ใน ชื่อ Beethoven's Pastoral Symphony

ในอเมริกาเหนือมีนกคัคคูอยู่ 5 ชนิด มีอยู่ 2 ชนิดที่หายากสักหน่อย ชนิดย่อย Anis เป็นนกคัคคู ที่ชอบ อยู่ใน ภูมิอากาศแบบอบอุ่นเขตร้อน พบในตอนใต้ของ รัฐฟลอริดา นกคัคคูชนิดนี้อยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ และ ไข่รวมกันไว้ในรังเดียวกัน , mangrove cuckoo ซึ่งเรารู้จักนิเวศวิทยาของมันน้อยมาก พบทางตอนใต้ของรัฐฟลอริดา เช่นกัน , นกที่นำมาสร้างเป็นตัวการ์ตูนตลกยอดนิยม เจ้าของเสียงหัวเราะแบบเจ้าเล่ห์ ยียวนกวนประสาท ปนความน่ารัก โรด รันเนอร์ Roadrunner ก็อยู่ในสกุลเดียวกันกับนกคัคคู แต่มันไม่ใช่นกกาฝากเหมือนนกคัคคู เจ้าตัวนี้เป็นนกที่หากินบนพื้นดิน ตัวใหญ่ ฉายานักวิ่งลมกรด เพราะมันวิ่งได้เร็วถึง 15 ไมล์ ต่อชั่วโมง หรือ กว่านั้น เจ้าโรดรันเนอร์ ชอบอยู่ในที่โล่ง ร้อนแห้งแล้ง กึ่งทะเลทราย หรือ ทะเลทราย พบแถบภาคตะวันตก และ ตะวันตกเฉียง ใต้ ของทวีปอเมริกา เป็นนกที่คุ้นหน้าคุ้นตา คนแถวนั้นเลยทีเดียวแหละ

นกคัคคูที่ชาวอเมริกันคุ้นเคยที่สุดคือ yellow - billed cuckoo ซึ่งมีการแพร่กระจายพันธุ์ ข้ามดินแดน สหรัฐอเมริกาลงใต้ไปจนถึง ติดชายแดนประเทศเมกซิโก อีกชนิดหนึ่งที่พบบ่อยมาก ก็ คือ black - billed cuckoo พบแถบตะวันออกของเทือกเขาร็อคกี้ นกทั้งสองชนิดนี้มีพฤติกรรมเป็นนกกาฝากในบางครั้งเท่านั้น ที่น่าขำคือ นอกจาก แอบไปวางไข่ในรังนกอื่นแล้ว มันยังแอบไปวางไข่ในรังของอีกฝ่ายหนึ่งด้วยกันทั้งคู่ เรียกว่าถ้าเผลอ ก็เล่นกันเอง ไม่เดือดร้อนชาวบ้านว่างั้นเถอะ เจ้านกคัคคู 2 ชนิดนี้ จะมีฤดูวางไข่ช้ากว่านกทั่วๆ ไป ซึ่งก็เป็นของแน่ เพราะ เมื่อมันเป็นนกที่ชอบแอบ ไปวางไข่ในรังของชาวบ้าน ก็ เป็นธรรมดาอยู่เอง ที่ต้องรอให้ชาวบ้านเขาสร้างรังวางไข่ เสร็จก่อน จึงจะแอบไปวางไข่ท้ายครัว

นกคัคคูทั้งชนิด yellow และ black cuckoo มักจะมารวมกันเมื่อมีการระบาดของ แมลงหรือหนอนที่เป็น อาหารจานโปรดของมัน เช่น แมลงจำพวกจิ้งหรีด หรือ จั๊กจั่น ที่พิเศษคือ นกคัคคู ชอบกินหนอน หรือ แมลงที่มีพิษ หรือพวกตัวบุ้ง ที่มีหนาม หรือ ขนที่เป็นพิษ ซึ่งนกกินแมลงชนิดอื่นจำต้องเมินหนี แต่สำหรับนกคัคคูแล้ว พวกแมลงพิษ เหล่านี้ มันสวาปามได้สบายปากมาก พฤติกรรมการกินอาหารที่แปลกพิศดารนี้ เป็นนิสัยประจำตัว ของนก ที่เป็น นกกาฝาก (parasitic birds) ทั่วๆ ไป น่าแปลกใจว่า มันรู้จักกินได้อย่างไร โดยที่มันไม่รู้มาก่อนว่า พ่อแม่ที่แท้จริง ของมัน กินอะไรเป็นอาหาร เพราะอาหารที่พ่อแม่บุญธรรมของมัน นำมาป้อนตอนที่มันยังเด็กอยู่นั้น แน่นอนว่าคือ หนอน และ แมลง ทั่วๆ ไปที่ไม่มีพิษ ที่นกกินแมลงทั้งหลายกินกันนั่นเอง แต่พอมันโตแยกไปหากินเอง กลับไปโปรด ปราน แมลง และ หนอน ที่มีพิษ เป็นพิเศษ ธรรมชาติมีอะไรที่ตลกๆ และ พิศดารเสมอ

ชาวอเมริกัน และ ชาวโลกทั่วไป รู้จักนกคัคคู โดย คุ้นเคยกับนาฬิกาติดฝาผนัง (ที่พอครบหนึ่งชั่วโมง ประตูเล็กข้างบน เหนือหน้าปัทม์นาฬิกา เปิดออก และ มีนกเล็กๆ น่ารักโผล่หน้าออกมาร้อง "คุ๊ก คู คุ๊กคู " นั่นแหละ) ซึ่งนาฬิกาติดผนังชนิดนี้ คนทั่วไปเข้าว่าเริ่มแรกทำมาจากประเทศสวิสเซอร์แลนด์ แต่ความจริงไม่ใช่ นาฬิกานกคัคคูนี้ แรกเริ่มเดิมทีผลิต ที่เขต Black Forest ซึ่งเป็นพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของ ประเทศเยอรมัน โดยฝีมือช่างทำนาฬิกา ที่ทำเป็นอุตสาหกรรมในครอบครัว แต่มีผู้มีชื่อเสียงคนหนึ่ง ให้การรับรองฝีมือการผลิต โดยรับการันตีในชื่อของ Franz Anton Kettering โดยรับการันตีในชื่อของตนครั้งแรกในปี ค.ศ. 1730 (พ.ศ. 2273) มีการลงทุนขนานใหญ่ เพื่อผลิต นาฬิกาติดฝาผนังชนิดนี้ ทั้งมีรูปแบบต่างๆ มากมาย เป็นสิ่งประดิษฐ์เครื่องจักรกลบอกเวลา ที่ได้รับความนิยม ไปทั่วโลก เจ้านกคัคคูนี่เองที่เป็นแรงบันดาลใจ แม้ชีวิตส่วนตัว ของมัน จะเป็นเรื่องลี้ลับ ไม่ค่อยมีใครรู้จัก แต่เสียงร้องของมัน ดังผ่านนาฬิกาชนิดนี้ไปทั่วโลก และ เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ขาดไม่ได้เลยในชีวิตประจำวัน ในการรู้เวลา

ในปี ค.ศ. 1979 จากที่เคยเป็นแต่เรื่องเล่าปรัมปรา เหมือนตำนานในยุคกลาง ก็เริ่มมีการศึกษา นิเวศวิทยา ของนกชนิดนี้ในรูปแบบที่เป็นวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ขึ้น โดย Amotz Zahavi นักวิจัยสาขาพฤติกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัย เทล อาวิฟ ประเทศอิสราเอล เขาได้ตีพิมพ์บทความสั้นๆ ลงในหนังสือ American Naturalist โดยเขาตั้งทฤษฎีว่า นกในวงศ์คัคคู มิได้ใช้วิธีลักลอบเข้าไปวางไข่ในรังนกอื่น แต่ ใช้วิธีบังคับขู่เข็ญให้นกเจ้าของรัง (จำใจ) ยอมรับไข่ของมัน โดยเขาพบว่านกคัคคู ได้ย้อนกลับไปที่รังที่มันฝากไข่ไว้ และ มีการ "ลงโทษเป็นการสั่งสอน " นกที่ไม่ยอมรับไข่ของมัน เขาได้แสดงความไม่พอใจ ต่อวิธีการเช่นนี้ของนก คัคคู "มันเป็นวิธีการของ พวกแก๊งมาเฟีย เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ที่จะไปอ่อนข้อ ให้กับวิธีการเอารัดเอาเปรียบ เช่นนี้ "

Zahavi เป็นคนฉลาดปราดเปรื่อง เป็นผู้มีความคิดริเริ่มใหม่ๆ ข้อโต้แย้งของเขา มีผู้ยอมรับกันมาก เขาได้เสนอแนวคิดที่แตกต่างจากความเชื่อทั่วๆ ไป เช่น นกที่มีสีสด คนมักเชื่อว่า เป็นอันตรายต่อตัวมันเอง เพราะนักล่า มักจะมองเห็นตัวมันง่ายๆ แต่ เขากลับมีแนวคิดว่า นกที่สีสดนั้นแหละ คือ นกที่แสดงถึงความสามารถ เยี่ยมยอด ในการเอาตัว รอด หรือการที่มันพัฒนาการให้มีสีสดใส เพื่อแสดงว่า มันมีความสามารถที่จะดำรงเผ่าพันธุ์มาได้ (ทำนองว่า ..เห็นฉันสีสดๆ อย่างนี้ พวกแกนักล่าทั้งหลาย มีปัญญาทำอะไรฉัน ได้ไหมละ !!???!!) ความเห็นนี้ตอนแรกๆ ใครก็ส่ายหน้าไม่เชื่อถือ แต่ พอนานไป ชักรู้สึกว่า เออ หรือมันจะจริง แฮะ เป็นอย่างนั้นไป

โซเลอร์ และ Rothstein ซึ่งต่างก็มีอคติอย่างมาก ต่อกระบวนการทางธรรมชาติลักษณะนี้ เขาไม่เชื่อว่า วิธีการนี้ เป็นวิธีการที่นกคัคคู จะประสบความสำเร็จ ในการดำรง เผ่าพันธุ์ไว้ได้ อย่างนั้นก็ต้องพิสูจน์กัน การทดลอง ใช้เวลา 3 ฤดูของการวางไข่ โดยเริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 1990 - 1992 โดย โซเลอร์และผู้ร่วมงานคนอื่นอีกหลายคน ได้ช่วยกัน เก็บไข่นกคัคคู ออกจากรังที่มันไปแอบไข่ทิ้งไว้ 29 รัง และ ไม่ไปแตะต้องเลยอีก 28 รัง โดยปล่อยไข่ ไว้ตามเดิม ต่อมาภายหลัง ปรากฎว่า 16 รัง ใน 29 รัง ที่เอาไข่ออก รังถูกทำลายสิ้นเชิง รังที่ไม่เอาไข่ออก 28 รัง มีอยู่ 3 รัง โดนหางเลขรับกรรมไปด้วย (ในรังที่ไม่แตะต้องไข่ พบว่า 3 รังแน่ใจว่าถูกทำลายโดย นกคัคคู , 1 รังเป็นฝีมือของ นกอีกา , เหลือเพียง 9 รัง ที่ไม่มีตัวไหนไปยุ่งเกี่ยว)

แต่จากการเก็บข้อมูล มีหลายรังที่มีคนคอยเฝ้าดูอย่างใกล้ชิด แต่ ก็ ไม่พบพฤติกรรมการเข้าทำลายรังเลย รังที่ถูกทำลาย ล้วนรอดสายตา นักสังเกตการณ์ไปหมด เรียกว่า จับไม่ได้คาหนังคาเขา เลยสักรังเดียว นักวิทยาศาสตร์ หลายคนยังไม่ปักใจเชื่อว่า นกคัคคู ใช้วิธีทำลายนกชนิดอื่น เพื่อให้เผ่าพันธุ์ของมันอยู่รอด , Bob Payne นักปักษีวิทยา ของมหาวิทยาลัยมิชิแกน ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับนกคัคคู คิดว่า มันอาจเป็นเพียงความรู้สึกไม่ถูกต้อง ทางจริยธรรม ตาม มาตราฐานของมนุษย์เท่านั้นเอง

ถ้าไม่ใช่เพราะการถูกบีบบังคับ ทำไมนกเหล่านั้น จึงไม่โยนไข่ของนกคัคคูออกไปจากรังเสียเล่า ? อ๋อ โยนนะมีโยนแน่ มีนกหลายชนิดที่ จับไข่ของนกคัคคูโยนทิ้ง ไปนอกรัง เช่น นกAmerican robin , นกขมิ้น (orioles) , และ นก bluejays นกพวกนี้ไม่ยอมใจกว้าง ยอมรับ ไข่ที่มีลักษณะแปลกปลอมอยู่ในรัง นกหลายชนิดทิ้งรังไปเลย ถ้าพบว่ามีไข่นกอื่นอยู่ในรัง , เช่น ถ้านก Indico bunting พบไข่ของนก cowbird (ซึ่งเป็นนกกาฝากชนิดหนึ่งเหมือนกัน) อยู่ในรังของมัน มันจะทิ้งรังเดิม และ ไปสร้างรัง ของมัน ใหม่ ที่อื่น , แต่ นก yellow warbler เด็ดกว่านั้น นอกจาก เลิกฟัก , ทิ้งรังแล้ว มันกลับสร้างรังใหม่ทับลงบนรังเก่า เสียเลย ตลกไหมละครับ

สำหรับนกที่ยอมรับไข่ของนกคัคคูนั้น บางชนิดอาจเป็นเพราะ มันโง่ จนดูไม่ออกว่า มีไข่ของนกชนิดอื่น แปลกปลอมเข้ามา ในประเทศอังกฤษ นกกระจิบหญ้า มีพฤติกรรมไม่ยอมรับไข่ของนกชนิดอื่น ที่แอบเข้ามา วางไข่ในรัง ของมัน แต่ สำหรับไข่ของนกคัคคู ที่ปลอมแปลง ลวดลาย สีสัน เหมือนไข่ของมัน มันกลับยอมรับ แต่ก็มีนกหลายชนิด ที่ไม่มีวิวัฒนาการ ในการจำแนกแยกแยะ ข้อแตกต่างของไข่ในรังเลย ที่จริงแล้ว การจำไข่ ของตัวเอง ได้ น่าจะเป็นเรื่องง่ายๆ ตามปกติ แต่จริงๆ ไม่เป็นเช่นนั้น ไม่รู้ว่าต้องใช้เวลาอีก สัก 500 ปี หรือ 2 - 3 ล้านปี นกพวกนี้ถึงจะ พัฒนาการจดจำ ไข่ของพวกมันได้

ต้องใช้ความชำนาญมากทีเดียว จึงจะกำจัดไข่ของนก ที่เป็นของนกกาฝากออกไปได้ถูกต้อง เพราะ ถ้านกโยนไข่ ที่มันเพียงแต่คิดว่า แปลกประหลาด ออกไปนอกรัง ไข่ฟองนั้นก็อาจเป็นไข่ของนกคัคคู แต่ ในลักษณะหนึ่ง มันอาจโยนไข่ของมันเอง ออกไปนอกรังก็ได้ เพียงเพราะว่าไข่ฟองนั้นบังเอิญ มีจุด ที่แปลก ไปจาก ปกติ หรือไม่ก็ ธรรมชาติอาจบอกให้มันยอมรับไข่ฟองนั้นไว้ แม้มันอาจจะไม่แน่ใจว่าเป็นไข่ของมันก็ตาม ใครจะรู้ มันอาจคิดของมันง่ายๆ ก็ได้ว่า ถ้ามีไข่อยู่ในรังของเรา มันจะเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากไข่ของเรานั่นแหละ

ยังเป็นเรื่องปริศนาคาใจ อยู่มาก ในทฤษฎีแก๊งมาเฟีย ในหมู่นก เพราะพฤติกรรมเช่นนี้อาจจำกัด อยู่เพียง บริเวณตอนใต้ของสเปน ที่เป็นที่ทดลองก็ได้ ซึ่งบริเวณนั้น อาจมีแรงจูงใจบางอย่าง ให้มีพฤติกรรมเช่นนั้น รวมทั้งอาจ เป็นพฤติกรรมเฉพาะตัวของนกกาฝากบางชนิด ต่อ นกเจ้าของรังเฉพาะบางชนิด ก็เป็นได้ บางทีพฤติกรรมก้าวร้าวนี้ อาจเป็นเพียงรูปแบบ ของวิวัฒนาการ ชนิดล้าหลัง ที่หลงเหลืออยู่ นกกางเขนดงที่ Soler และ ผู้ช่วยของเขา ทำการ ศึกษา อยู่นั้น อาจเป็นพฤติกรรมก้าวร้าว ที่นกคัคคู พัฒนาขึ้น เพื่อใช้ปฎิบัติเฉพาะต่อ นกที่มันเห็นว่า เป็นนกที่ยังต้อง ใช้เวลาวิวัฒนาการว่า ควรจะทำอย่างไร เมื่อ มีนกชนิดอื่นแอบมาวางไข่ในรังของมัน (ทำนองว่า ตอนนี้แกอยากโง่ กว่าฉัน ฉันก็หลอกใช้แกไปเรื่อยๆ ว่างั้นเถอะ)

ไม่แน่ ว่า ลักษณะมาเฟีย ที่ว่านี้คืออาวุธตามธรรมชาติ ที่จะช่วยกำจัด ชาติพันธุ์ที่ไม่รู้จักป้องกันตัวก็ได้ ไม่น่าแปลกใจเลย ถ้าต่อไปอาจมีการพบว่า มีพฤติกรรมแบบ แก๊งมาเฟียเช่นนี้ เกิดขึ้นในนกชนิดอื่นๆ อีก สำหรับสัตว์โลกแล้ว การแสดงความก้าวร้าว อาจติดอยู่ในสัญชาติญาณ เอาตัวรอด ของสัตว์โลกทุกชนิด มาแต่ดึกดำบรรพแล้วก็เป็นได้ ถ้าคิดอย่างมนุษย์ทั่วๆ ไป พฤติกรรมแบบแก๊งมาเฟีย มักดึงดูดความสนใจของผู้คน ซึ่งมักจะนิยมชมชอบและอยากเอาอย่างเสียด้วย ก็ดูแต่หนังที่เกี่ยวกับแก๊งมาเฟีย ทั้งๆ ที่มีแต่ความ รุนแรง มีแต่เรื่องเข่นฆ่ากัน แต่คนกลับชอบไปดูกันล้นหลาม ไม่มีใครที่สร้างหนังที่เกี่ยวกับชีวิตครอบครัวที่น่ารัก มีความสุข พ่อแม่ดูแลเอาใจใส่ลูกๆ อย่างดี ทุกอย่างดูดี ราบรื่น มีความสุขไปหมด ใครสร้าง เจ๊ง อย่างเดียว ไม่มีใครดูหรอก

แหล่งที่มา : www.bird-home.com, แปล และ เรียบเรียงจาก Bullies of the Bird World โดย Frank Kuznik
อ่านต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่ http://www.nwf.org/nationalwildlife/1997/bullas7.html

  • สินค้าที่เกี่ยวข้อง
    คลิกดูรายละเอียด

  •  

    Top
    E-Mail

    Password


    Community
    Activity
    Photo Contest
    Bey Blade
    Cartoon 9
    Chat Room
    D-3
    D-Terminal
    D-Power
    Digimon
    Download
    Market Place
    Micro pet
    Quiz
    Can not select dB