มหาอุตม์ (MahaAut) งานนี้ขาย แพ็คเก็จล้วนๆ
ในยุคที่ Marketing เข้ามามีส่วนในธุรกิจภาพยนตร์ และสามารถชี้เป็นชี้ตายชะตากรรมของภาพยนตร์หลายๆ เรื่อง พิจารณาได้จากการทุ่มงบโฆษณาเพื่อประชาสัมพันธ์หนังแต่ละเรื่อง ทุกวันนี้มูลค่าของเม็ดเงินจำนวนไม่น้อยถูกจับจ่ายไปเพื่อทำให้หนังแต่ละเรื่องทำรายได้ให้มากที่สุดภายในช่วง 3 วันแรกที่หนังเข้า (เพราะทุกวันนี้โรงภาพยนตร์ส่วนใหญ่จะตัดสินชะตาหนังจากการดูรายได้หนังแค่ 3 วันเท่านั้น)
เหตุผลที่มาสนับสนุนข้อความข้างต้น ก็คือ ภาพยนตร์บางเรื่องทุ่มงบโปรโมตมากกว่าทุนสร้างภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ ซึ่งงบประชาสัมพันธ์นี้นอกเหนือจากงบในการซื้อสื่อไม่ว่าจะเป็น ทีวี , วิทยุ , Billboard , การชิงพื้นที่ของการวางสื่อในโรงภาพยนตร์ ฯลฯ ยังรวมไปถึงการส่งเสริมการขายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการชิงรางวัลใหญ่ (รถยนต์,รถจักรยานยนต์) หรือ การแลกของพรีเมียมเมื่อซื้อบัตรชมภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ
มหาอุตม์ ถือเป็นผู้บุกเบิกและนำการตลาดแนวใหม่(สำหรับหนังไทย) มาใช้ และทำการประชาสัมพันธ์ให้เป็นข่าว สร้างกระแส Talk of the Town ได้อย่างน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการจับมือกับ วิบูลย์กิจ เพื่อทำการ์ตูนออกขาย หรือ การสร้างเกมส์ทางมือถือ ซึ่งตรงจุดนี้ต้องชื่นชมทีมงานการตลาดของหนังเรื่องนี้ที่สามารถปั่นกระแสให้ มหาอุตม์ อยู่ในความสนใจของคนทั่วๆ ไปได้ เพราะจริงๆ แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการทำหนังสือการ์ตูน หรือว่า การทำเกมส์ล้วนแล้วแต่เคยมีคนทำมาแล้ว ปัญหาคือ หนังเรื่องก่อนๆ ที่เคยทำกลับไม่สามารถสร้างกระแสตรงนี้ได้เท่านั้น
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คงต้องยอมรับว่าสื่อที่ได้ผลที่สุดสำหรับหนังเรื่องนี้ ก็คือ ภาพยนตร์ตัวอย่าง (Trailer) เพราะตัวอย่างชิ้นนี้สามารถสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้ชมได้อย่างมีประสิทธิภาพ จุดขายที่ถูกขับออกมาให้คนดูรับทราบก็คือ ความเป็นหนังไทยเรื่องแรกที่ขาย special effect ที่น่าจะทัดเทียมกับชาวบ้าน (ฮอลลีวู้ด หรือ อย่างน้อยก็หนังฮ่องกง)ได้ เพราะว่าได้ทีมคอมพิวเตอร์กราฟฟิคอย่าง Centro ที่เคยฝากผลงานอย่าง ฟงอวิ๋นขี่พายุทะลุฟ้า มาเป็นคนทำ special effect ซึ่งต้องยอมรับว่าจากหนังตัวอย่าง สามารถทำให้คนดูคาดหวังไม่มากก็น้อย ว่าคงจะได้ดูหนังไทยที่อยู่ในระดับ Matrix หรือ Bulletproof Monk บวกกับโครงเรื่องที่เน้นเกี่ยวกับเรื่องคงกระพันชาตรีที่ยิ่งเสริมให้หนังดูมีความน่าสนใจมากขึ้น
มหาอุตม์ เล่าเรื่องของพระเอก เจตน์ (ชาติชาย งามสรรพ์) เด็กหนุ่มที่ถูก หลวงพ่อทองคำ เก็บมาเลี้ยงดูและสั่งสอนให้เป็นคนดี และจากการที่เจตน์ถูกอบรมมาเช่นนั้นทำให้เขาเข้าไปขัดขวางการทำงานของพวกเหล่าร้ายค้ายาและอาวุธสงครามอย่าง เมธา (สุเมธ องอาจ) ซึ่งองค์การร้ายที่ว่านี้ก็กำลังถูกเฝ้าจับตาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งมี สารวัตรมณฑล (พิเศก อินทรครรชิต) เป็นเจ้าของคดี แต่เมธาเอง ก็มีผู้มีอิทธิพลสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ซึ่งก็คือ ขจร (นิรุตติ์ ศิริจรรยา) พี่ชายของเขา อดีตทหารรับจ้าง ซึ่งมีความแค้นฝังใจอยู่กับหลวงพ่อทองคำ เพื่อนที่รู้ใจสมัยเป็นทหารรับจ้างด้วยกัน สุดท้าย การลบแค้นบัญชีเก่าระหว่างเพื่อนที่กลายมาเป็นศัตรู การชำระสะสางคดีระหว่างฝ่ายตำรวจและคนร้าย รวมไปถึงการต่อสู้โดยใช้พลังอำนาจแห่งยันต์มหาอุตม์ ก็ระเบิดขึ้น
โดยภาพรวมของหนังเรื่องนี้ ถือว่าค่อนข้างน่าผิดหวัง ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะการทำการตลาดที่ค่อนข้างดี ทำให้ความคาดหวังของคนดูสูงตาม แล้วเมื่อมาเจอหนังเนื้อในอย่างนี้เข้า เพราะหนังดูจะมีจุดอ่อนไปทุกส่วนไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของบทหนังที่ขาดความน่าเชื่อถือ ขาดเหตุผลที่มาที่ไป เพราะแทบทุกฉาก คนดูจะต้องเกิดคำถามขึ้นในหัวตลอดเวลาว่าเป็นอย่างนี้ได้อย่างไร
อย่างเช่น ทำไมนางเอกซึ่งเป็นคนดูแลเกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์ถึงต้องถูกเขียนบทให้ไปรับจ้างบริษัทของเมธา แล้วเมื่อรู้ว่าเมธามีเงินไหลเข้าบริษัทมากมายแล้วทำไม มันช่วยให้หนังเดินเรื่องก้าวไปข้างหน้าได้อย่างไร หรือว่า รัตนะ ซึ่งเป็นนางเอก (รับบทโดยนางเอกหน้าใหม่ อัญชสา ตั้งมงคลกุล) ตอนแรกก็เป็นแฟนกับสารวัตรมณฑล แล้วจู่ๆ เธอเปลี่ยนใจไปรักกับเจตน์ตั้งแต่เมื่อไร
ความสำคัญต่างๆ ไม่ได้ถูกถ่ายทอดให้คนดูรับรู้ได้อย่างที่บทหนังต้องการ อย่างการสักยันต์ มหาอุตม์ สักไปแล้วจะได้อะไรมีประโยชน์อย่างไร หรือแม้แต่การอาบน้ำว่าน 108 ซึ่งตามบทนั้นจะต้องรวบรวมเอาว่านทั้ง 108 ชนิดมาใส่พร้อมหนาม เพื่อให้หนามบาดตัวเพื่อให้น้ำว่านซึมซับไปตามผิวหนัง และจะต้องมีการแช่ 3 วัน 7 วัน หนังก็ไม่สามารถถ่ายทอดรายละเอียดในส่วนนี้ได้ รวมถึงไม่สามารถอธิบายว่าทำไมถึงต้องแช่ตั้ง 2-3 ครั้ง ซึ่งตามหลักการแล้ว ถ้าผ่านกระบวนการสักครั้งแล้วมันก็น่าจะขลังแล้ว
ส่วนของความต่อเนื่องก็มีปัญหากับหนังเรื่องนี้ อย่างง่ายๆ ที่ไม่น่าจะเห็นข้อผิดพลาดกับหนังสมัยนี้แล้วก็คือ เจตน์ถูกยิงที่อกข้างซ้าย แต่ซีนต่อมาพระเอกกลับลูบแผลที่อกข้างขวา ยังไม่นับรวมถึงรอยสักบนตัวละครที่เดี๋ยวมาเดี๋ยวไป หรือทำไมตอนต้นเรื่องที่ทองคำสู้กับทหารในป่า แล้วพอคลุ้มคลั่งกลับฆ่าคนทั้งหมู่บ้าน (มันน่าจะเป็นคนละสถานที่กันด้วยซ้ำ)
หรืออย่างตอนที่ขจรบอกว่า ทองคำทิ้งเขาเอาไว้ในหมู่คู่ต่อสู้ ก็เลยทำเอาคนดูงงว่า แล้วสุดท้าย ทองคำกลับมาเจอกับขจรได้อย่างไร หรือเหตุผลไม่สำคัญ ผู้สร้างแค่ต้องการฉากที่สร้างความสะเทือนใจเหมือนอย่างที่ จ่าเอเลียส (วิลเลียม เดโฟ ) โดน จ่าบารนส์ (ทอม เบอเรนเจอร์) ทำในหนังเรื่อง Platoon
ยังไม่นับรวมถึงรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ อีก เช่นว่า ทำไมที่วัดของหลวงพ่อทองคำ ซึ่งก็เป็นเหมือนวัดทั่วๆ ไป แต่พอพาพระเอกเราไปแช่น้ำว่าน กลับมีสถานที่เป็นถ้ำพิเศษซึ่งดูยังไงก็ไม่น่าจะอยู่ในสถานที่เดียวกันได้ และอีกหลายๆ ฉากหลายๆ ตอน
ในส่วนของดารานำแสดงก็สอบตกเกือบหมด เพราะแสดงได้โอเวอร์แทบทุกตัว ที่ดูจะพอสอบผ่านก็เป็น คุณพิเศก อินทรครรชิต ส่วนคุณนิรุตต์ ศิริจรรยา ดูค่อนข้างน่าเสียดายกับหนังเปิดตัวหลังจากห่างหายวงการไปร่วมสิบปี เพราะน่าจะหาหนังที่ดีกว่านี้สำหรับการ come back สู่วงการ
งานเทคนิคพิเศษที่ดูเหมือนจะเป็นแม่เหล็กสำหรับงานชิ้นนี้ พออยู่ในหนังจริงๆ (ซึ่งคิดเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วไม่น่าจะถึง 10 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับความยาวของหนังทั้งหมด) กลับไม่ดีอย่างที่คาด ไม่ว่าจะเป็นฉากระเบิดอนุสาวรีย์ชัยฯ และฉากระเบิดรถไฟฟ้า จะมีที่ดูดีหน่อย ก็คือ ฉากลูกกระสุนที่หยุดอยู่หน้าของคุณนิรุตต์ ที่ดูเนื้องานแล้วค่อยสมศักดิ์ศรีของ Centro หน่อย
ถือเป็นงานที่ค่อนข้างน่าผิดหวัง สำหรับคนที่ตั้งความหวังไว้ว่าจะได้ดูหนังที่สนุกและแปลกใหม่ เพราะสุดท้ายแล้ว ก็ไม่ต่างจากหนังไทยเรื่องอื่นๆ สักเท่าไร ล่าสุดได้ยินว่าหลังจากได้รับ feedback จากคนดูรอบสื่อมวลชน ทางเจ้าของหนัง ก็นำหนังไปซอยเพื่อให้สั้นลงไปอีกไม่ต่ำกว่าสิบนาที ที่สำคัญใครที่ซื้อหนังสือการ์ตูนที่มีการพิมพ์ขายและจั่วหัวว่าเล่มเดียวจบนั้น ขอเตือนก่อนนะครับเนื้อหาในหนังสือไม่จบจริง เขียนถึงแค่ไคลแม็กซ์ แล้วทิ้งไว้ให้คนอ่านต้องไปดูต่อตอนจบในโรงหนังเอาเอง
แหล่งที่มา : Reviewed by : Kazaa, www.movieseer.com
|