Sinbad : Legend of the Seven Seas ซินแบด พิชิตตำนาน 7 คาบสมุทร ร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ
ถ้าว่ากันตามปูมหลังแล้ว เรื่องราวผจญภัยของจอมโจรอย่าง ซินแบด น่าจะเป็นได้ทั้งหนังคนแสดง หรือแม้แต่อนิเมชั่นหนังการ์ตูนที่สนุกได้ไม่ยาก กับตัวเรื่องที่ให้ความตื่นเต้นสนุกสนานไปกับการผจญภัยไปพบกับสารพัดสิ่งมหัศจรรย์ แม้บางทีเด็กๆ ยุคอินเตอร์เน็ต ยุคหนังทำจากคอมพิวเตอร์นี้อาจจะรู้จัก ซินแบด กันน้อยลงไม่เหมือนเด็กรุ่นก่อนที่โตเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งคนรุ่นเก่าๆ เหล่านี้ (ผมด้วยสินะ) คงเคยได้ดูหนัง ซินแบด สมัยโน้นที่ทำด้วยเทคนิคสต็อปโมชั่นกันมาบ้าง ตอนนั้นเราก็ว่ามันน่าตื่นตาแล้ว พอมาถึงยุคนี้ อะไรๆ ก็ยิ่งดูดี แนบเนียน สมจริง เพราะคอมพิวเตอร์กันหมด เหมือนกับการ์ตูนเรื่องล่าสุดของค่าย DreamWorks เรื่องนี้
Sinbad Legend of the Seven Seas จับเรื่องราวเมื่อเทพธิดาแห่งความยุ่งเหยิง เอรีส (ให้เสียงโดย มิเชล ไฟเฟอร์) เกิดอยากสร้างความวุ่นวายขึ้นมาบนโลก (ตามนิสัยเทพเฉพาะทางของตัวเองเดี๊ยะ) จึงวางแผนยืมมือโจรระดับอาชีพ ซินแบด (ให้เสียงโดย สุดหล่อขวัญใจแม่ยกทั่วโลก แบรด พิตต์) ขโมยคัมภีร์แห่งสันติสุข ที่สร้างความสงบสมดุลย์ให้กับแคว้นต่างๆ บนโลกไป โดย ซินแบด ต้องปวดหัวไปกับอุดมคติความเป็นโจรของตัวเอง เมื่อพบว่าเพื่อนรัก โพรเทียส(ให้เสียงโดย โจเซฟ ไฟนส์) ซึ่งมีศักดิ์เป็นถึงเจ้าชายนั้นไว้ใจ และยอมรับผิดแทนเขา เพื่อจะให้ ซินแบด ได้มีโอกาสออกไปชิงคัมภีร์สันติสุขกลับมา ซินแบด จึงต้องเลือกระหว่างการเป็นโจรไร้สัจจะ หรือเป็นโจรใจพระ ในขณะเดียวกัน สาวห้าวอย่าง มารีน่า (ให้เสียงโดย แคเธอรีน ซีต้า-โจนส์) ที่ โพรเทียส หลงรักอยู่ ก็ดันขอร่วมผจญภัยมาด้วย ได้เล่นบทพ่อแง่แม่งอน ดอกฟ้ากับโดมผู้จองหอง กันอยู่พักใหญ่ก่อนจะตกหลุมรักซึ่งกันและกัน
ใจความหลักของการ์ตูน ซินแบด ฉบับนี้ จุดขายสำคัญก็คงจะเป็นฉากผจญภัย ต่อสู้กับสัตว์ยักษ์มหึมาต่าง ๆ ซึ่งก็แน่นอนว่าเป็นเอกลักษณ์ของเรื่อง ซินแบด อยู่แล้ว และในภาคการ์ตูนของ DreamWorks นี้ก็มีให้ดูกันตั้งแต่ฉากแรก ที่ ซินแบด และ โพสเทียส ต้องทิ้งการประมือกันชั่วคราวเพื่อร่วมมือกันสู้กับปลาหมึกยักษ์ ต่อจากนั้นก็มีฉากที่ มารีน่า ต้องบังคับเรือแทนหนุ่มๆ โจรสลัดที่ถูกเหล่าผีสาวพรายน้ำสะกดจิตจนเรือเสียการควบคุมหลงเข้าไปในหลืบหินซับซ้อนรอเวลาชนรอเวลาอับปาง และก็ยังมีฉากพ่อแง่แม่งอนช่วยกันเอาตัวรอดจากนกยักษ์ และเมื่อบวกเข้ากับมุขตลกเล็กๆ น้อยๆ ที่มีตลอดเรื่อง และเสียงพากย์หล่อๆ (แต่ไม่ค่อยรับกับใบหน้าดวงตาโตๆ ของ ซินแบด ในการ์ตูนนัก) ออกแนวพระเอกที่มีลูกเกเรนิดๆ ของ แบรด พิตต์ ก็พอจะทำให้หนังการ์ตูนของ DreamWorks เรื่องนี้ เป็นการ์ตูนที่ดูกันได้เพลินๆ กับเนื้อหาที่เบาๆ เข้ากับคนดูได้ทุกวัย (อาจจะมีหลุดมุขทะลึ่งนิดๆ มาบ้างมุขสองมุข แต่ก็ไม่สกปรกเกินเด็กจะรับได้เท่าไหร่)
แต่ในขณะเดียวกัน ทุกๆ อย่างในซินแบดฉบับนี้ ก็ดูจะเบาๆ กลางๆ ไปเสียหมด ไม่ดีแต่ก็ไม่เลวเสียทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของโปรดักชั่น โดยเฉพาะอนิเมชั่นของสัตว์ยักษ์ต่างๆ ที่ถึงจะดูดีก็จริง แต่ก็แค่ทำได้ตามมาตรฐานเทคโนโลยียุคนี้ ซึ่งเริ่มจะเป็นสิ่งที่เราเห็นกันมามากจนชินเป็นธรรมดาสายตาไปแล้ว ไม่ได้น่าตื่นตาแปลกใหม่น่าประทับใจเท่าไหร่ ในส่วนของพล็อตเรื่อง ความหนักเบาของเนื้อเรื่องที่ดำเนินไป ก็คลี่คลายง่ายดายไปเสียทุกอย่าง แม้แต่ตัวร้ายของเรื่องคือ เอรีส ก็ยังดูงั้นๆ ไม่ได้ร้ายกาจอะไร เมื่ออะไรๆ มันง่ายไปหมด (แม้กระทั่งไคลแมกซ์ของเรื่อง) คนดูก็เลยไม่ค่อยได้ลุ้นกัน ความประทับใจเลยด้อยลงไปอย่างช่วยไม่ได้ การ์ตูนที่น่าจะ สนุกมาก หรือ สนุกจัง เลยได้แค่ ก็... สนุกดี สนุกไม่สุดไปอย่างน่าเสียดาย
การ์ตูนอนิเมชั่นจากค่าย DreamWorks ยังคงตามหลังดิสนีย์อยู่ก้าวสองก้าวเสมอ ซินแบด เรื่องนี้ แม้จะดูได้เพลินๆ เบาสมองสมกับความเป็นการ์ตูน แต่ก็ยังขาดเสน่ห์ที่เรียกความประทับใจในแบบที่การ์ตูนดิสนีย์ดีๆ เคยทำได้ ยิ่งถ้านับการ์ตูนสามมิติจากค่าย Pixar เข้าไปด้วยแล้ว จะยิ่งเห็นได้ชัดว่า มุขตลก หรือพล็อตเรื่องนั้น ของทางฝั่งดิสนีย์ดูจะสร้างความประทับใจได้มากกว่าของ DreamWorks จริงอยู่ว่าดิสนีย์เองก็มีหลายๆ เรื่องในช่วงหลังที่เป๋ฟอร์มตกไปบ้าง แต่ดิสนีย์เองก็ได้สตูดิโอดีๆ อย่าง Pixar มาช่วยไว้จาก A Bugs Life, Toys Story และ Monster Inc.
ข้อดีของการ์ตูนสมัยใหม่ที่เริ่มใช้คอมพิวเตอร์วาด ก็คือ ความสมจริงที่มีมากขึ้น แต่ข้อเสียที่ตามมาก็คือ คนดูบางส่วนเริ่มชินตากับภาพแบบนี้ ลูกไม้ที่ใช้ซ้ำๆ บ่อยเกินไป ก็จะเริ่มเฝือไปในที่สุด เรียกว่าถ้าทำได้เสมอตัวก็แค่ไม่ถูกตำหนิ ที่เหลือคงต้องรอให้เทคโนโลยีพัฒนาไปมากกว่านี้ หรือรอให้มีคนสร้างสรรค์ไอเดียทางภาพที่บรรเจิดกว่าเท่าที่เป็นอยู่ให้ได้เสียก่อน ตรงนี้เลยทำให้คนทำการ์ตูนบางส่วนอาจจะพลาดไปได้บ้างว่า การ์ตูนอนิเมชั่นต้องอลังการงานสร้างด้วยภาพเปลี่ยนมุมมองได้แบบงานกึ่งสามมิติจากคอมพิวเตอร์ เลยพากันยัดภาพโชว์เทคนิคใส่กันเข้าไป จนลืมไปว่าในที่สุดแล้ว การ์ตูนหรืออนิเมชั่นที่สนุกและน่าประทับใจนั้น เกิดจากความงดงาม น่ารัก ของเนื้อเรื่อง และภาพที่แสดงถึงจินตนาการอันสร้างสรรค์ โดยผสมผสานการวาดด้วยฝีมือมนุษย์และเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างกลมกลืนลงตัวมากกว่า และที่สำคัญ การ์ตูนนั้น ยังไงก็ต้องทำเพื่อเด็ก หรือทำให้คนดูในวัยผู้ใหญ่นั้น รู้สึกสนุกเหมือนกลับไปเป็นเด็กอีกครั้งได้นั่นเอง
แหล่งที่มา : Reviewed by : สุกรี, www.movieseer.com
|