Artist : Helloween Album : Metal Jukebox JVC Victor/BMG (German Metal)
เป็นอัลบัมที่ออกตั้งแต่ปี99 เปรียบได้กับอัลบัมรวมเพลงคัฟเวอร์ที่พวกฟักทองทำออกมาขัดตาทัพระหว่างทำอัลบัมใหม่ (ก็คือ Dark RIde ที่ BMG เพิ่งนำมาออกพร้อมกับชุดนี้เช่นกัน) ชื่ออัลบัมและปกก็บ่งบอกชัดเจนว่าพวกเขาเล่นตามอำเภอใจ โตมากับเพลงใดวงใดก็นำมาเล่นกันตามอารมณ์ ไอเดียส่วนใหญ่เป็นของไวการ์ธ บางคนอาจจะไม่ชอบหรือไม่สะใจกับงานประเภทนี้ แต่ผมว่ามันเป็นอีกแง่มุมหนึ่งที่ทำให้เรารู้แบ๊กกราวน์ดของศิลปินที่เราชื่นชอบ เราอาจจะไปหาเพลงต้นฉบับของศิลปินที่พวกเขานำเพลงมาคัฟเวอร์ แล้วศึกษาไปด้วย ได้ความรู้ทางดนตรีเพิ่มอีก นอกจากนี้ยังได้เห็นฝีมือในอีกแง่มุมหนึ่งของพวกเขาว่านำเพลงต้นฉบับมาเล่นในสไตล์ของตัวเองได้ดีเยี่ยมเพียงใด จะเหนือกว่าต้นฉบับหรือด้อยกว่า จะได้ประเมินค่าฝีมือกันได้ (ประการหลังนี่เป็นนิสัยส่วนตัวที่ชอบจับผิดศิลปินนะครับ อย่าเอาอย่าง) รายของฟักทองนั้นไม่ต้องคิดเรื่องฝีมือครับ เชื่อขนมยายกินได้ตั้งนานนมแล้ว ทีนี้เรามาลุ้นว่าพวกเขาจะทำได้ดีแค่ไหน และมีรสนิยมอย่างไรกันดีกว่า
กลุ่มเพลงที่ผม (และอีกหลายๆคน) คุ้นเคยกันมาแต่อ้อนออกก็คือ Hes a Woman-Shes a Man ของ Scorpions เล่นได้หนักแน่นดุดันกว่าต้นฉบับ, White Room ของ Cream ยังเคารพต้นฉบับและสื่อศรัทธาเจ้าของเพลงเต็มเปี่ยม กีตาร์จัดจ้านเป็นพิเศษ, All My Loving ของ The Beatles เป็นเฮฟวีร็อคเต็มขั้นที่ยังมีกลิ่นเดิมอยู่, Hocus Pocus ของ Focus เล่นเคารพต้นฉบับเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ จนคิดว่าไม่ได้เล่นเองด้วยซ้ำไป ระวังหลงกลคิดว่ายาน อักเกอร์มานเป็นคนเล่นกีตาร์นะครับ, From Out of Nowhere ของ Faith No More ดุดันขึ้นและทันสมัยกว่าเดิม แต่ของเดิมก็ยังขลังกว่า, Space Oddity ของเดวิด โบวี ใส่ซาวน์ดส่วนตัวเข้าไปบ้าง แต่ก็พยายามรักษาบรรยากาศเดิมๆไว้ด้วยดนตรีอะคูสติก เสียงร้องของแอนดีคล้ายเอกเซิล โรสมากไปหน่อย และ Lay All Your Love On Me ของ Abba ทำให้เพลงป๊อปของเดิมหนักและข้นกว่าเดิมหลายเท่า หรือเพลงที่ค่อนข้างห่างตัวบ้างก็มี Locomotive Breath ของ Jethro Tull, Juggernaut ของแฟรงก์ มาริโน ที่หลงเหลืออารมณ์ฮาร์ดร็อคแบบ GNR เอาไว้ ส่วน Faith Healer ของ Sensational Alex Harvey Band กับ Mexican ของ Babe Ruth ผมไม่เคยฟังต้นฉบับ แต่ฟักทองก็เล่นได้แน่นและสะใจดีเหลือเกิน โดยเฉพาะเพลงหลังมีกีตาร์บางท่อนจากซาวน์ดแทร็กเรื่อง The Good, The Bad, The Ugly แทรกเข้ามาด้วย ตรงที่ฟังเป็นลูกทุ่งๆนั่นแหละครับ ส่วน Rat Bat Blue ของ Deep Purple เป็นโบนัสแทร็กของแผ่นญี่ปุ่นนั้นเยี่ยมเกินกว่าจะเป็นแค่โบนัสแทร็กครับ
งานประเภทนี้ไม่เหมาะที่จะฟังเอามันหรือโยกหัวนะครับ แม้จะเป็นฝีมือของพวกฟักทองก็ตาม แต่เหมาะสำหรับการศึกษาค้นคว้า และขุดคุ้ยรากเหง้าทางดนตรีกัน หากไม่ชอบดนตรีฮาร์ดร็อคยุค70s เป็นทุนอยู่แล้ว ไปซื้องานของวงเหล่านี้มาฟัง ก็คงยากที่จะปรับตัวได้ครับ
แหล่งที่มา :คอลัม Album Review, by Anusorn 70/100 หนังสือ Metal Magazine / 2003
|