Black Rebel Motorcycle Club
หนึ่งปีกว่าๆ หลังจากที่อัลบัมแรกชื่อเดียวกับวง (หรือชื่ออักษรย่อของวง แล้วแต่ศรัทธา) ออกวางตลาด Black Rebel Motor cycle Club รั้งตำแหน่งวงรุ่นใหม่ที่น่ายำเกรง ทั้งในแง่ฝีไม้ลายมือ และการวางตัวที่เว้นระยะห่างระหว่างวงกับสื่อมวลชน และแฟนเพลงอยู่ ตลอด ไม่เคยปล่อยให้เรื่องส่วนตัวถูกนำมาพูดถึง (ใครบังอาจดันทุรังขุดคุ้ยระหว่างการสัมภาษณ์ ก็จะเจอไม้ตายสายตาเย็นชา ไม่พูดไม่จา เดินหนี ให้มันรู้ไปว่ากูกับมึงใครแน่กว่ากัน) หลังจากทัวร์โปรโมตอัลบัมแรกที่ประสบความสำเร็จถล่มทลาย ยอดขายเป็นแสนกอปปีเฉพาะ UK Black Rebel หยุดพักหายใจหายคอเล็กน้อย ก่อนตะลุยงานอัดเสียงชุดใหม่ โดยย้ายสำมะโนครัวมายังสตูดิโอที่ย่าน Mayfair และ The Fortress ที่ย่าน Hoxton Square
แน่นอน การที่วงต้องย้ายจากแอลเอมาลอนดอนนี้ ก็เนื่องจากปัญหาวีซ่าของมือกลองนิก เจโก ซึ่งคาราคาซังมาเป็นปี ซึ่งแรกเริ่มเดิมที BRMC เล็งทำเลห้องอัดไว้หลายแห่ง และหนึ่งในนั้นก็คือ Toerag ที่ The White Stripes ใช้บริการระหว่างการทำ Elephant นั่นเองเนื่องจากงานชุด 2 ของ BRMC นี้ วงแสดงเจตนารมณ์ว่าต้องการซาวน์ดที่ ดิบ และเหมือนการแสดงสด วลี HARDER AND FASTER คือคอนเสปต์ของอัลบัม Take Them On, On Your Own นี้ ตอนที่อัดเสียงงานชุดแรกนั้น จังหวะชีวิตของเราช้าซังกะตาย รอเบิร์ต เทอร์เนอร์ หนึ่งในสองนักร้องนำและมือเบสร่างโย่ง ผู้เจียดเวลามาเล่าถึงอัลบัมใหม่ของพวกเขา บอกกับเรา หลังจากนั้นเราก็ตระเวนทัวร์ ไปโน่นไปนี่ พบปะผู้คนมากมายอยู่ตลอด ทุกสิ่งทุกอย่างเปิดกว้าง ถ้าเรานั่งฟังอัลบัมแรกของเราตอนนี้ จะไม่รู้สึกว่ามีชีวิตออกมาจากงานมากเท่าไหร่
อย่างไรก็ตาม Black Rebel มาลงเอยกับ Mayfair และ Fortress ด้วยเหตุผลที่ว่าไม่ต้องการให้ซาวน์ดของตนออกมาเหมือนกับ The White Stripes และก็จองสิบห้องใน The Fortress เป็นแหล่งกบดานตลอดตั้งแต่หกโมงเย็นถึงหกโมงเช้าแทบทุกวัน เป็นเวลาสามสี่เดือน... (ยังมีน้ำใจเหลือไว้ให้ The Beatings และ The Black Madonnas วงละห้อง!)
ว่าแต่เรื่องนั้นเอาไว้ก่อน...ยังไงซะตอนนี้หลังนิก เจโกได้กรีนการ์ดและบินตามไปสมทบในการมิกซ์เสียงที่แอลเอเรียบร้อยอัลบัมชุด 2 ของ BRMC ก็พร้อมวางตลาดใน UK วันที่ 25 ส.ค.นี้แล้ว แต่ทำไมต้อง Take Them On, On Your Own ล่ะ?
โอ้! Take Them On, On Your Own ก็คือเพลงหนึ่งของเราที่เป็นกำแพงไวต์นอยส์ที่สวยงามมากเลย มันให้ความรู้สึกว่า ใช่ ที่จะเป็นชื่อของกลุ่มเพลงในอัลบัมนี้ ผมชอบความคิดที่จะได้ชื่ออัลบัมเป็นรูปประโยคคำสั่ง มันไม่แน่นิ่งดี มันลงตัวกับวิญญาณของอัลบัมทั้งหมด เอาล่ะ ว่าแต่อยากรู้เรื่องงานชิ้นนี้ หรือ เปล่า หา?
STOP
ซิงเกิลเปิดอัลบัมนี้ จะออกวางแผงวันที่ 18 ส.ค. เพลงเปิดด้วยเบสไลน์ที่ผ่านดิสตอร์ชัน และเสียงกีตาร์อื้ออึง Stop ผสมผสานเมโลดีละเอีอดลออในแบบ Beatles ช่วงกลางยุค60s เข้ากับการกระแทกจังหวะหนักหน่วงแบบ Oasis ยุค Definitely Maybe รอเบิร์ตรับหน้าที่ร้องเพลงนี้ด้วยน้ำเสียงหวีดหวิวแต่ไร้อารมณ์อย่างที่เขาทำได้ดีและโดดเด่นที่สุด ดังที่เคยร้องในเพลงบีไซด์ที่ชื่อ Failsafe ซึ่งที่ผ่านมา BRMC มักจะมิกซ์ Stop ต่อกับ Fail safe ในการแสดงสดหลายๆครั้ง
รอเบิร์ต : เราเคยเล่นเพลงนี้มาก่อน มันเกี่ยวกับการออกทัวร์และกลายเป็นเป้านิ่งโดนโจมตี เนื้อเพลงก็ We dont like you/ we just want to try you นั่นก็ท่อนแรก สนุกทุกทีที่ร้องใส่คนดู คุณก็รู้ คุณคือวงที่ถูกเชียร์ขึ้นมา ทีนี้ผู้คนก็แบบ ใครๆก็บอกว่านายเจ๋ง พิสูจน์เซ่ มันเกี่ยวกับการถูกสูบเลือดไปจนหมดตัวระหว่างการทัวร์ นั่นก็เป็นเหตุผลว่าทำไม ผมไม่ค่อยจะแน่ใจว่าผมชอบมันแน่หรือเปล่า ก็มีวงที่แต่งเพลงพวก โอ้ ฉันถูกสูบเลือดหมดตัวระหว่างทัวร์ แบบนี้อยู่เต็มไปหมด
เพลงนี้จะเป็นซิงเกิลแรก มันทำให้ผมนึกถึง Spread Your Love นิดหน่อย มันมีเบสไลน์กระแทกหนักๆเหมือนกัน ใครๆก็ตื่นเต้นไปกับเพลงนี้ มันไม่ได้มีความหมายดีเท่า Spread Your Love หรอก เกรี้ยวกราดกว่าเยอะ เราเขียนเพลงนี้ระหว่างการทัวร์ แต่มันสามารถถูกตีความออกไปได้ไกลกว่านั้น Stop คือความหมายทั้งหมดของอัลบัมนี้
SIX BARREL SHOTGUN
มหัศจรรย์! เพลงแบบ Black Rebel ฉบับคลาสสิกแท้ คล้ายๆกับ Whatever Happened to My Rock n Roll (Punk Song) นั่นแหละ แต่ใหญ่กว่าและมีเนื้อมีหนังมากกว่า เป็นเพลงที่จะทำให้ข้างในของคุณปั่นป่วนไปหมดด้วยริฟกีตาร์และเบสที่จะทำให้คุณตะลึงพรึงเพริด เพลงนี้มักเป็นเพลงเปิดเซ็ตลิสต์ระหว่างการทัวร์อังกฤษ เมื่อเดือนธ.ค.ปีกลายโดยเนื้อเพลงท่อนแรกร้องว่า I kill myself with a six barrel shotgun/ Id kill you all but I need you so/ I tear my fingers from the trigger baby/ I tear my fingers cause Im feeling low เล่นเอาเสียงปรบมือเสียงกรี๊ดสนั่นหวั่นไหวลั่นฮอลล์
รอเบิร์ต : เราเห็นหลายคนติดอกติดใจเพลงนี้กัน หนึ่งก็คือ...มันเจ๋งและอีกอย่างก็คือเนื้อเพลงมัน...คือมันไม่การเมือง หลายคนเคยได้ยินเพลงนี้แล้วจากการทัวร์ของเรา เราใช้งบทำอัลบัมไปครึ่งหนึ่งในการมิกซ์เพลงบ้านี่ นั่นคือสิ่งที่ผมจำได้ดีที่สุดเกี่ยวกับเพลงนี้ตอนนี้ แล้วมันก็มีการร้องรับส่งแบบที่ปีเตอร์กับผมถนัด (ใครนึกไม่ออกก็กลับไปฟังท่อนคอรัส Punk Song กับ Spread Your Love ก็แบบนั้นแหละ) มันเป็นเพลงที่ไม่มีการประนีประนอมเลย อย่าง The Stooges นั่นแหละ ผมอยากให้วิญญาณนี้สถิตอยู่ตั้งแต่เริ่มเล่นอัลบัม
WERE ALL IN LOVE
เข้าหูคอวิทยุยิ่งกว่า 2 เพลงก่อนหน้า แล้วยังมีเวอร์ชันแสดงสดหลุดออกมาให้ดาวน์ โหลดกันเป็นปีแล้วอีกต่างหาก เพลงนี้เป็นเพลง ที่แสนจะฟังง่ายและติดหู ด้วยคอรัส Were all in love with something that we cant see/ Im in love with something that I cant see วงพนันใน NME เปิดโพลแทงกันว่านี่ล่ะซิงเกิลที่สอง แต่ใครก็ไม่รู้มาหักอกวงเข้า เล่นเอา ปีเตอร์ครวญ Im in love without you ทับ กำแพงเสียงฟีดแบ๊กที่ดังขึ้นมาเป็นการปิดเพลง ปีเตอร์เคยเล่าว่าเขียนเพลงนี้ขึ้นระหว่างการซ้อม เป็นเพลงที่มีซาวน์ดแบบ The Stones ที่สุด คือมีคอร์ดพื้นฐานสามสี่คอร์ด โดยรวม ติดหูและโคตรเท่
รอเบิร์ต : เพลงนี้คล้ายกับ Rolling Stones ยุค70s เป็นเพลงที่มีชีวิตขึ้นมาทันทีที่เราบันทึกเสียงมัน ปีเตอร์ เป็นคนคิดท่อนกีตาร์สไลด์แบบไร คูเดอร์ นี่ที่เจ๋งโคตรๆ มันเป็นเพลงที่เป็นไปตามธรรมเนียมการแต่งเพลงร็อคแอนด์โรลที่สุด ที่เราเคยทำมา
IN LIKE THE ROSE
เริ่มอินโทรช้าๆ In Like The Rose เดินไปบนเบสไลน์จังหวะตะกุกตะกัก (แน่นอนว่าจงใจ) และเมื่อเพลงเดินไปสามนาที กำแพงเสียงและดิสตอร์ชันแบบฉบับ Black Rebel เหยียบมาถึงขั้วความเร็วสูงสุด เป็นแถลงการที่ยิ่งใหญ่ ที่มีคอรัสอลังการ แต่ก็ยังไม่ใช่เพลงที่ดีที่สุดในอัลบัมนี้
รอเบิร์ต : ส่วนนี่เป็นเพลงร็อคแอนด์โรลที่ไม่เป็นไปตามธรรมเนียมที่สุดที่เราเคยทำมา เราเองยังไม่มีปัญญาเล่นสดเพลงนี้เลย ยังต้องเรียนรู้มันอีก เพลงนี้มีการเล่นกีตาร์ด้วยเทรโมโลต่อเนื่องไปทั้งเพลง และยังไอ้แมนเชสเตอร์กรูฟแบบโลกอนาคตนี่อีก มันเป็นเพลงโปรดของหลายคนเลย ผมเป็นคนแต่งเนื้อเพลงเองแหละ แล้วก็รู้สึกว่าการมานั่งพูดเรื่องเนื้อเพลงที่ผมเขียนให้คนอื่นฟังเนี่ย มันยากเอาการ สมองมัน ตันไปหมด ให้พูดเนื้อเพลงของปีเตอร์ล่ะก็ ผม พูดกับคุณได้ทั้งวันแหละ
HA HA HIGH BABE
เล่นกับบีตโดยแท้ ทั้งเพลงร้องอยู่ประโยคเดียว แต่ฟังแล้วไม่เบื่อด้วยการเดินเบสและลีลาการร้องของปีเตอร์ที่แสนจะเก๋ไก๋ และการเล่นกับโปรแกรมมิงที่ทำให้แต่ละท่อนที่เนื้อเพลง และเมโลดีเหมือนกันนั้น ฟังดูแตกต่างกันออกไปได้ เป็นเพลงที่จะทำให้คุณโยกตัวไปมาแบบเวลาฟังเพลงฮิปฮอป
รอเบิร์ต : เพลงนี้ง่ายเหลือเกิน ทั้งเพลงก็ซ้ำไปซ้ำมาอยู่ประโยคเนี้ย มันมีเบสไลน์ที่เจ๋งที่สุด จริงๆ แล้วในอัลบัมปีเตอร์ก็เป็นคนเล่นนั่นแหละ ทั้งอัลบัมนี้จะเตือนให้ผู้คนรู้สึกว่าทำไมคุณถึงต้องมีมือเบสไว้ในวง
GENERATION
จังหวะและการลีลาเหมือนกันกับ White Palms ที่อยู่ในอัลบัมแรกเปี๊ยบ แต่แก้ไขจุดอ่อนที่เคยเกิดขึ้นกับ White Palms ได้ดีแท้ คือเรื่องของเรื่อง White Palms เป็นเพลงที่เจ๋งมากเวลาเล่นไลฟ์ แต่ฟังดูค่อนข้างโหวงเหวง ไม่แน่นเท่าที่ควรในอัลบัม Generation สามารถเก็บอารมณ์ที่หนักหน่วงในการเล่นไลฟ์ ไว้ใน สตูดิโฮซาวน์ดได้อย่างสมบูรณ์แบบเพลงเจตนา ด่า NME และกระแส New Rock Revolution ที่ BRMC ถูกยัดเยียดให้เป็นหัวหอก เนื้อเพลงยะโสในดนตรีร็อคดิบยุค70s ของ Generation จะทำให้อารมณ์ขึ้นถึงจุดร้อนในช่วงใกล้จบเซ็ตลิสต์ระหว่างทัวร์ได้ดีแท้ เพลงนี้ชวนให้นึกถึงร็อคเมายาตากลมของ The Verve ยุคแรก ทั้งยัง เนื้อเพลงจากมุมมองของคนนอก I dont feel home in this generation/ I feel alone in this generation/ Ive had enough of this generation/ Aint you had enough? เอื๊อก!
รอเบิร์ต : เพลงนี้จะไขทุกอย่างให้กระจ่าง เราไม่ได้เป็นหัวหอกแต่ในนามของขบวนการอะไรทั้งสิ้น เพลงนี้สรุปเรื่องนั้น เนื้อเพลงก็บอกหมดแล้ว และการสัมภาษณ์เป็นที่ที่แย่ที่สุดที่จะมาถกกันเรื่องนี้ ผมไม่คิดว่าดนตรีใหม่ๆ ส่วนมากจะมาเปลี่ยนประวัติศาสตร์ได้ New Rock Revolution เป็นสามคำที่แรงมากๆ และผมก็ไม่รู้สึกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของมัน ผมว่าหลายคนก็คงรู้สึกแบบนี้
SHADE OF BLUE
อีกเพลงที่กลายเป็นเพลงโปรดของใครต่อใครระหว่างการทัวร์ไปแล้ว งดงามในเมโลดี การเดินเบสทุ้มนุ่มนวล และความหวานซึ้งของเนื้อเพลง ซึ่งมาจากประสบการณ์ชีวิตส่วนหนึ่งของปีเตอร์ ฮายส์ (ซึ่งนิก เจโกผู้ไร้ความโรแมนไม่วายแอบเหน็บ) ท่วงทำนองงดงามในความเศร้า มันอาจทำให้ปุถุชนผู้อ่อนไหวน้ำตาคลอด้วยนึกถึงบางสิ่งบางอย่างที่แสนคิดถึง แต่ไม่รู้ว่าสิ่งที่คิดถึงนั้น...คืออะไร เนื้อเพลงก็...อา... Ive been here before/ I know this shade of blue/ Its you/ Ive felt your touch before/ I know your way/ Your ghost-like sense of state/ Youre gone/ Slowly I relive a better past/ A time I though I knew/ I blew/ Now Im patient/ Now I know Ill last/ Ill last/ I always know my hearts been held by you/ Ive always known its true with you โอ้ยยยยยยยยยยยยย...........ลมจะใส่
รอเบิร์ต : Shade of Blue เป็นเพลงที่สมบูรณ์แบบ เป็นงานชิ้นโบแดงสำหรับผม มันมีจิตวิญญาณของจิมิ เฮนดริกซ์ เอกซ์พีเรียนซ์ เราคว้ามันเอาไว้ได้ด้วยกลวิธีที่เราไม่เคยคิดว่าเราจะทำได้ นั่นคือเหตุผลว่าทำไมผมถึงชอบเพลงนี้ เป็นอีกเพลงที่เนื้อเพลงอธิบายตัวเองได้ดีมาก
US GOVERNMENT
นิกเคยเล่าเอาไว้ว่า เพลงนี้เกิดจากการแจมกัน ตั้งแต่เมื่อครั้งที่วงยังยึดซาน ฟรานซิสโกเป็นฐานทัพ (นานมากแล้ว) สิ่งที่วงยังจำกันได้ดีก็คือ เพลงนี้เป็นเพลงที่เร็วที่สุดที่พวกเขามีตอนนั้น ทำเอาตื่นเต้นกันใหญ่ สิ่งที่ยากก็คือการต้องบันทึกเสียงเพลงที่แต่งเอาไว้เมื่อปี มะโว้อย่างนี้อีกครั้ง และยังเป็นครั้งแรกที่ปีเตอร์ และรอเบิร์ตร่วมร้องในเพลงเดียวกัน ซึ่งเหมือน กับการเอาสองกำปั้นทุบไปที่จุดเดียว และนับเป็นจุดที่สำคัญในแนวทางดนตรีของวง อันที่จริงเพลงนี้ (ในเวอร์ชันเดิม) ได้ถูกรวมไว้ใน CD คอมพิเลชัน Rise and Shine ของนิตยสาร Q แต่ครั้งนี้วงพยายามทำให้ซาวน์ดฟังเป็นไลฟ์กว่าเดิม โดดเด่นในเสียงร้องเฉยชา และเอฟเฟกต์แพรวพราว สิ่งหนึ่งที่เพิ่มเข้ามาคือท่อนช้าบ่นๆ เอ๊ย! ครวญช่วงปิดเพลง ที่ร้องว่า Theyre gonna make it, were gonna suffer ระวังไอ้บุชไว้นั่นแหละดี เอ๊ย! อันนี้คนเขียนว่าเอง และที่เข้าตากรรมการที่สุด คือการเร่งจังหวะกลองขึ้น หลังจากท่อนช้าที่ดูเนือยๆยืดๆช่วงกลางเพลง เริ่ด!
รอเบิร์ต : ถ้าเพลงนี้จะช่วยให้ผู้คนตระหนักถึงการคอร์รัปชันของรัฐบาล และเลิกเอาแต่หมกมุ่นเรื่องตัวเองเสียบ้างก็คงดี เราไม่ได้เป็นวงดนตรีการเมือง เพลงนี้ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 11 กันยา แล้วก็ไม่มีอะไรเกี่ยวกับการออกไปตีรันฟันแทงกันจริงๆ บางวันคุณก็นึกอยากพูดว่า Fuck em! เพราะคำอื่นมันไม่สะใจอย่างนี้ เรารักประเทศของเราอย่างบริสุทธิ์ใจ แต่เราก็ไม่ได้หูหนวกตาบอด
ผมก็หวังว่าเพลงนี้มันจะออกมาในช่วงที่เรื่องราวต่างๆในอิรักมันสงบลงบ้าง พอคนเห็นคำว่า US Government ก็เอาแต่คิดถึงเรื่องสงคราม เพลงนี้ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับสงคราม เขียนมาตั้งแต่ปีมะโว้แล้ว แถมยังเปลี่ยนแล้วเปลี่ยนอีกตั้งไม่รู้กี่รอบต่อกี่รอบ
AND IM ACHING
เพลงช้าที่ปูทางอัลบัมหน้า ซึ่งวงในหลุดมาว่างานสตูดิโอชุด 3 ของ Black Rebel นั้นจะเป็นงานเพลงช้าอะคูสติกทั้งหมด (แฟนนิกไม่ต้องห่วง รอเบิร์ตกับปีเตอร์จะหากระป๋อง กระแป๋งมาให้นิกเคาะเล่น เขย่าเล่นให้จังหวะต่อไปแน่นอน แม้ไม่มีกลองชุด ทำอย่างนี้มาตลอดเวลามีโชว์อะคูสติก เพื่อนไม่ทิ้งกัน) และวงก็เก็บเพลงช้าๆที่แต่งเอาไว้แล้ว สำหรับอัลบัมที่ 3 นี้ด้วย หนึ่งในนั้นอาจเป็น Waiting Here ที่รวมอยู่ในคอมพิเลชัน New Rock Revolution ของ NME
รอเบิร์ต : เพลงนี้คือเพลงสุดท้ายที่ใส่เพิ่มมาในอัลบัม ผมคิดว่าอัลบัมนี้จำเป็นต้องมีความเปลี่ยนแปลงที่เพลงนี้นำมา มันจำเป็นต้องมีจังหวะพัก เพลงนี้มีแค่กีตาร์อะคูสติกและเสียงร้องอีกเสียง มันบอกใบ้ถึงจุดเราจะไปถัดจากนี้ ในแง่ของเสียง ผมว่าเพลงนี้มีเสียงกีตาร์อะคูสติกที่อัดได้ดีที่สุดเท่าที่ผมเคยได้ยินมา มันเติมทุกพื้นที่ของลำโพงจนเต็มเปี่ยม
SUDDENLY
อีกหนึ่งงานเก่าเอามาเล่าใหม่ งดงาม
ด้วยซาวน์ดไซคีเดลิกร็อค ซึ่งรอเบิร์ตให้เสียงร้องที่เย็นยะเยือก เหมือนลมหนาวที่หวีดหวิว Suddenly เป็นเพลงช้าที่มีพลังแบบเดียวกับ Rifle ในอัลบัมแรก แต่จังหวะหนักแน่นกว่า
รอเบิร์ต : นี่ยิ่งเป็นเพลงที่เก่าเสียยิ่งกว่าเพลงอื่น ที่เราเอามาอัดเสียงใหม่ ผมว่าเราไม่เคยเล่นสดเพลงนี้นะ แต่มีหลายต่อหลายคนมาขอให้เราเอามันใส่ไว้ในอัลบัมนี้ พวกเขาได้ยินมันจากเดโมที่กระจัดกระจายส่งต่อๆกันไปเป็นปีๆก่อนหน้านี้ เราถูกเหน็บเรื่องนี้อยู่ตลอด เลยคิดตกว่าเอาก็ได้วะ
RISE OR FALL
รอเบิร์ต : เราไม่เคยเล่นสดเพลงนี้มาก่อน ไม่เคยมีใครได้ยินมันมาก่อน และมันก็เป็นเพลงที่เร็วที่สุดที่เราเคยแต่งมา เรามาถึงขีดจำกัดของเสียงจนได้ นิคเล่นแทบไม่ได้เลยตอนแรกๆ แต่ตอนนี้เขาเล่นได้แล้ว และผมก็ภูมิใจในตัวเขาจริงๆ มันมีลักษณะอินดรัสเตรียลแบบ Nine Inch Nail อยู่ด้วย
HEART AND SOUL
รอเบิร์ต : เราไม่ต้องการปิดอัลบัมด้วยเพลงบัลลาด บางทีคุณก็ตกไปอยู่ในความเฝือแบบนั้นได้ มันก็เป็นวิธีที่ง่ายสำหรับการผูกโบกล่องของขวัญที่เรียกว่างานเพลงแต่เราอยากทำอะไรที่มันตรงกันข้าม เราอยากให้อัลบัมนี้ ให้ความรู้สึกเหมือนประสบการณ์ไปดูการแสดงสด เราเล่นเพลงนี้ปิดคอนเสิร์ตหลายต่อหลายครั้ง สิ่งที่เราทำตอนที่เราบันทึกเสียงเพลงนี้ก็คือ เอาช่วงเวลาที่ดีที่สุดใน 100 โชว์ที่แตกต่างกันที่เราเล่นแล้วอัดเสียงเก็บไว้ทั้งหมดมาแปะรวมกัน เราเลือกเอาส่วนที่ดีที่สุด และทำให้มันเป็นสิ่งที่ใหญ่ขึ้น มันเป็นเพลงที่กระฉับกระเฉงมาก เราพยายามเล่นอย่างมีอิสระที่สุดเท่าที่เราทำได้
อิ่มกันหรือยัง แน่นอนว่ากะอีแค่ Track by Track preview และคำบรรยายสรรพคุณของอิฉันกับ NME มันย่อมไม่เหมือนของจริง อดใจรอกันอีกนิด Take Them On, On Your Own มีกำหนดวางตลาด ที่ UK และญี่ปุ่นในวันที่ 25 ส.ค. และอเมริกา/ยุโรปวันที่ 1 ก.ย. ส่วนไทยแลนด์...? EMI ว่าไงคะ?