Home Shop Mag'z Member Basket Thai / English Site Map
Webboard Book Toy Music Movie
Movie
  >  home >  movie >  Scoop > 
    Butterfly Man : ผีเสื้อร้อนรักแหล่งที่มา :
หนังสือ Movie Time / 2003
Butterfly Man
ผีเสื้อร้อนรัก

จีเอ็มเอ็ม พิคเจอร์ส เตรียมคว้าภาพยนตร์ Butterfly Man ผีเสื้อร้อนรัก ผลงานภาพยนตร์ระดับอินเตอร์ครั้งแรก พร้อมความภาคภูมิใจกับรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจากเทศกาลภาพยนตร์ระดับโลก SLAMDUNK Film Festival ของ มะหมี่ - นภคปภา นาคประสิทธิ์ สาวไทยอีกหนึ่งคนที่ได้ไปร่วมงานกับทีมงานชาวอังกฤษ และเป็นภาพยนตร์ที่มีนักแสดงจากหลากหลายชาติโดยมี มะหมี่ นักแสดงสาวชาวไทยที่มีโอกาสได้ร่วมแสดงในภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย ซึ่งทาง จีเอ็มเอ็ม พิคเจอร์ส อยากให้คนไทยได้มีโอกาสชมผลงานการแสดงของนักแสดงสาวชื่อดังชาวไทยอย่างมะหมี่ ที่เธอไปคว้ารางวัลกลับมาด้วย จึงได้นำเอาภาพยนตร์เรื่องนี้เข้ามาฉายในเมืองไทยเพื่อผู้ชมชาวไทยโดยเฉพาะ

Butterfly Man ผีเสื้อร้อนรัก เป็นผลงานของ Kaprice Kea ผู้เขียนบทและผู้กำกับชาวอังกฤษ ที่ได้แรงบันดาลใจจากตอนมาเที่ยวพักผ่อนที่เมืองไทย เขานำเอาเกร็ดต่างๆ ประสบการณ์ และจากจินตนาการที่มี มาเขียนเป็นบทภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่งเป็นเรื่องราวปัญหาความตึงเครียดในชีวิตของชายหนุ่มชื่อ อดัม (Stuart Laing) ผู้ที่ในที่สุดแล้วก็ได้ค้นพบความหมายในความสวยงาม ความวุ่นวายและความเป็นจริงในดินแดนแห่งใหม่

Butterfly Man เป็นคำพูดเปรียบเทียบที่พูดกันภายในเกาะ ซึ่งหมายถึงผู้ชายที่คบกับผู้หญิงคนหนึ่งแล้วไปคบอีกคนหนึ่งและอีกคนหนึ่ง เมื่อ อดัม ตัวละครดำเนินเรื่อง ได้พบและตกหลุมรักกับ เอม (มะหมี่) ผู้หญิงในฝันของเขา แต่เขาได้ทำผิดพลาด เขาจึงต้องพยายามค้นหาตัวเอง และสิ่งที่เขาต้องการในตัวเธอ

ภาพยนตร์เรื่องนี้นำแสดงโดยนักแสดงนานาชาติ ซึ่งประกอบไปด้วย Stuart Laing (จาก Lawless Heart), มะหมี่ (จาก แม่เบี้ย), Abigail Good (จาก Eyes Wide Shut) และนักแสดงที่เปี่ยมไปด้วยความสามารถจากฮอลลีวูด Gavan O' Herlihy (จาก Willow, Never Say Never Again) โดย Butterfly Man นี้เป็นเรื่องราวผจญภัยที่เต็มเปี่ยมไปด้วย อารมณ์ความรัก อารมณ์ขัน และความพิศวง

นอกเหนือไปจากดวงอาทิตย์ ทะเล และหาดทรายที่สวยงาม ตัวละครที่มีเสน่ห์ และรายละเอียดของวัฒนธรรมเก่าแก่ ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังนำเสนอประสบการณ์ของนักเดินทาง ความสัมพันธ์ระหว่างตะวันออกและตะวันตก และความอ่อนโยน อ่อนไหวของผู้หญิงไทยจากหมู่บ้านในต่างจังหวัด

เรื่องราวของ Butterfly Man ผีเสื้อร้อนรัก

    หลังจากแยกทางกับแฟนสาวในระหว่างเดินทางท่องเที่ยว อดัม นักเดินทางชาวอังกฤษ ได้เดินทางมาถึงกรุงเทพฯ เขาเดินทางต่อไปยังเกาะแห่งหนึ่งในอ่าวไทย อดัมได้พบกับเอมบนเกาะโดยบังเอิญ แต่ยังไม่ทันได้พูดคุยอะไรกันเธอก็หายตัวไป อดัมพยายามตามหาผู้หญิงคนนั้น เขาได้พบกับเจ้าของบาร์แห่งหนึ่งที่ชักชวนอดัมเข้าร้านนวด ซึ่งเป็นที่ที่ทำให้อดัมได้พบกับเอมอีกครั้ง ความใกล้ชิดของทั้งคู่พัฒนาขึ้นจากการนวดซึ่งเอมเป็นสาวนวดแผนโบราณอยู่ในร้านนวด ทำให้ทั้งคู่ตกหลุมรักกัน คืนนั้น อดัมได้ไปสังสรรค์ในบาร์ของโจอี้และได้พบกับน้อย บาร์เกิร์ลที่มายั่วยวนเขา อดัมกลับไปกับเธอ และเพื่อนของเอมได้ไปเห็นเข้า แต่เอมไม่แปลกใจเพราะคิดว่าอดัมก็คงเหมือนกับผู้ชายคนอื่นๆ ที่เดินทางมาเมืองไทยแล้วทำตัวเป็น Butterfly Man ซึ่งเป็นคำเปรียบเทียบที่หมายถึงคบกับผู้หญิงคนหนึ่งแล้วไปคบกับอีกคนและอีกคน

    อดัมโกหกเรื่องผู้หญิงคนอื่นกับเอม แต่เอมไม่ได้พูดอะไร คืนนั้นเอมไปหาอดัมที่บังกะโลแล้วกลับไป รุ่งเช้าอดัมก็พบว่าเงินของเขาถูกขโมยไป เขากล่าวหาเอมจนเธอโกรธและขอจบความสัมพันธ์กับเขา โลกอันสวยงามของอดัมพังทลายลงและอดัมก็ไม่มีเงินเหลืออยู่เลย จนต้องไปขอทำงานเป็นคนเอาของไปส่งที่เกาะอีกแห่งหนึ่ง ระหว่างนั้นทั้งคู่ต่างก็คิดถึงกันและกัน แต่ไม่นานอดัมก็รู้ว่าของที่เขานำไปส่งนั้นเกี่ยวข้องกับงานทุจริต ซึ่งเอมมีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ด้วย อดัมจะทำอย่างไรที่จะช่วยเหลือเอมให้รอดพ้นจากขบวนการดังกล่าว

มุมมองของผู้กำกับ Kaprice Kea

    ผมไปเที่ยวเมืองไทยเพื่อพักผ่อนจากการถ่ายทำภาพยนตร์ แต่ประสบการณ์ที่ประทับใจทำให้เรื่องราวที่ถูกซ่อนอยู่ปรากฏขึ้น แหล่งท่องเที่ยวและแบบแผนประเพณีของไทยมีความซับซ้อน ยิ่งถลำลึกลงไป ยิ่งทำให้ผมพบความน่าตรึงใจของโลกแห่งใหม่นี้

    เรื่องราวของ Butterfly Man เป็นการผสมผสานของเกร็ดประวัติ ประสบการณ์ และจินตนาการ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากการท่องเที่ยวทั่วเมืองไทย ภาพยนตร์นี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับปัญหาความตึงเครียดของชีวิตชายหนุ่มที่ชื่อ อดัม ปัญหาระหว่างความรักกับความหลงใหลราคะ ข้อผูกมัดกับอิสระเสรี และความเป็นจริงกับความหลอกลวง ประเทศไทยในปัจจุบันและวิถีการดำรงชีวิตเป็นสถานที่ที่ดีที่สุดสำหรับการนำเสนอปัญหาเหล่านี้

    โดยหลักแล้ว เรื่องจะเกิดทางภาคใต้ เมืองที่การท่องเที่ยวกัดกร่อนความสวยงามและน่าดึงดูดของธรรมชาติ แก่นของเรื่องอยู่ที่ความสัมพันธ์ระหว่างสองวัฒนธรรม ชาวต่างชาติส่วนใหญ่เข้ามาประเทศไทยโดยมีสมมติฐานและทัศนคติที่ต่อต้านกับลักษณะชีวิตคนไทย ผมแปลกใจว่าทำไมนักท่องเที่ยวชาวตะวันตกเหล่านี้จึงสร้างฝันร้ายให้กับตัวเอง แม้จะอยู่ในสถานที่ที่เรียกได้ว่าเป็นสวรรค์

    สิ่งสำคัญมากคือแสดงให้เห็นว่า อดัม ไม่ใช่นักท่องเที่ยวที่โง่ หยิ่งยโส แต่มีจิตใจที่อ่อนไหว เชื่อในความถูกต้องและเหตุผล หญิงสาวที่เขาตกหลุมรักซึ่งก็คือ เอม นั้น ต้องการความเท่าเทียมกัน เธออาจจะทำสิ่งที่เลวร้าย แต่เธอทำไปก็เพื่อครอบครัวเท่านั้น

    ตลอดทั้งเรื่อง เราได้เรียนรู้วัฒนธรรมที่สองในมุมมองของ อดัม อย่างละนิดๆ แต่ในฉากสุดท้าย เป็นตอนที่หัวใจของประเทศไทยถูกเปิดเผย วัฒนธรรมที่เก่าแก่และมีคุณค่า แต่กำลังจะหายไป เป็นการบอกผู้ชมชาวตะวันตกว่า ผู้คนสามารถอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน ที่นี่คือที่ที่อดัมได้ยาถอนพิษจากชีวิตแบบตะวันตกของเขา

10 ข้อที่คุณไม่รู้เกี่ยวกับ Butterfly Man

  1. 1. Kaprice และ Tom ผู้กำกับและโปรดิวเซอร์ของเรื่องพบกันครั้งแรกที่คานส์ในปี 1997 ในการฉายภาพยนตร์เรื่อง Monk Dawson ซึ่งในขณะนั้น Kaprice กำลังจะเดินทางมายังประเทศไทย โดยไม่รู้เลยว่า Tom เป็นลูกครึ่งไทย-อังกฤษ

  2. 2. ในบทภาพยนตร์ที่เขียนขึ้นครั้งแรก Kaprice เขียนเกี่ยวกับหมู่บ้านในตอนท้ายของเรื่องจากจินตนาการของเขาเอง แต่เมื่อเขากลับมาค้นหาหมู่บ้านที่ตรงกับที่เขาจินตนาการไว้ เขาได้พบกับผู้หญิงไทยคนหนึ่งที่เขียนที่อยู่ของเธอให้บนกระดาษแผ่นเล็กๆ ซึ่งเป็นกระดาษแผ่นเดียวกับที่ อดัม ใช้ตามหาหมู่บ้านของเอมและพระสงฆ์กับชาวบ้านในเรื่องก็เป็นผู้ที่อาศัยในหมู่บ้านนั้นจริงๆ

  3. 3. Tom และ Kaprice เดินทางไปแอลเอ เพื่อหาเงินทุนและเจรจากับ Gavan O' Herlihy เพื่อให้มารับบทในเรื่อง ขณะที่เขาทั้งสองขับรถออกมาจากสนามบิน เขาได้พบศพที่เพิ่งถูกฆ่า เพียงไม่กี่เมตรจากที่ที่เขาจะไปพักใกล้กับหาดเวนิซ เขาโทรเรียก 911 และเพียงไม่กี่นาที ตำรวจก็มาถึงที่เกิดเหตุ

  4. Kaprice ย้ายมาอยู่ที่เมืองไทยเพื่อถ่ายทำภาพยนตร์ เมื่อ Tom มาถึงเพื่อเริ่มขั้นตอนก่อนการถ่ายทำ เขาตกใจเมื่อพบเด็กเล็กๆ เต็มสตูดิโอของ Kaprice ซึ่งเด็กเหล่านั้นมาช่วยขนฟิล์มเข้าตู้นั่นเอง

  5. บทภาพยนตร์ 90 หน้าต้องได้รับการแปลเป็นภาษาไทย และถ่ายสำเนา 40 ชุด เพื่อให้หน่วยงานทางประเทศไทยตรวจสอบ และขณะถ่ายทำก็มีผู้เข้ามาตรวจและดูแลการถ่ายทำ และเขาเหล่านั้นก็ได้มีส่วนช่วยในการทำของประกอบฉาก และเป็นตัวประกอบ

  6. Kaprice ใช้เวลาสองปีในการหานักแสดงมาเล่นเป็นเอม เขาพบมะหมี่โดยบังเอิญที่ถนนข้าวสาร เพียงสองวันก่อนการถ่ายทำ (และหลายเดือนถัดมาก็มีนักแสดงคนหนึ่งที่ต้องการเล่นบทนี้เข้ามาโวยวาย เพราะเข้าใจผิดว่า เรื่องนี้เป็นภาคต่อของเรื่อง Emmanuelle)

  7. วันหนึ่งขณะที่สมาชิกของทีมงานเดินทางไปสมุย ห้องของเขาถูกคนลักลอบเข้าไปขโมยเงิน เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นกับ อดัม ในเรื่อง และนี่ไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่ "ชีวิตเหมือนละคร" เกิดขึ้นในการถ่ายทำ

  8. Kaprice ไม่มีปัญหาในการคัดเลือกนักแสดงสำหรับบทบาร์เกิร์ล หมอนวดแผนโบราณและบท วิท ซึ่งเป็นชายที่ไร้ที่อยู่อาศัยที่ชอบมานอนหน้าบ้านของ Kaprice ตอนที่วิทและภรรยาได้เข้าพักที่โรงแรม นั่นเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่เขาได้นอนบนเตียง และเขายังรับประทานอาหารทั้งหมดในมินิบาร์ เพราะอายเกินกว่าจะเข้าไปในร้านอาหาร

  9. ทุกคนในทีมงานชาวอังกฤษของภาพยนตร์เรื่องนี้ประทับใจกับประเทศไทยมาก นอกเหนือไปจากชีวิตกลางคืนที่มีสีสันของสมุย ทีมงานหลายคนไม่ได้กลับอังกฤษจนกระทั่งหลายเดือนหลังจากการถ่ายทำเสร็จสิ้น

  10. มะหมี่ ซึ่งเล่นเป็นเอมในเรื่อง แสดงในภาพยนตร์เรื่อง แม่เบี้ย ซึ่งเป็นหนึ่งในสิบภาพยนตร์รายได้สูงสุดในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย และเธอได้กลายเป็นดาราดังเพียงชั่วข้ามคืน

ทีมงานนักแสดง

  • Stuart Laing (อดัม)
    นักแสดงชาวอังกฤษที่มีผลงานทางช่อง BBC เรื่อง In a Land of Plenty และ Lawless Heart กับนักแสดงชื่อดัง Tom Hollander ผลงานภาพยนตร์ของเขามี South West 9 ซึ่งเป็นภาคต่อของ Human Traffic ภาพยนตร์ที่ได้รับความนิยมในอังกฤษ

  • นคประภา นาคประสิทธิ์ (เอม)
    ด้วยความสามารถทางด้านการแสดง และใบหน้าเฉี่ยวคมที่ดูสวยแปลกของเธอ ทำให้มะหมี่กลายเป็นนักแสดงที่มีชื่อเสียงได้ภายในเวลาไม่นาน และด้วยความบังเอิญ ผู้กำกับ Kaprice Kea ไปสะดุดตามะหมี่ในขณะที่เธอกำลังนั่งช่วยเพื่อนขายของอยู่ที่กลางตรอกถนนข้าวสาร การที่ได้แสดงเป็นเอมเป็นความท้าทายสำหรับมะหมี่ เพราะเป็นบทที่ต้องพูดภาษาอังกฤษ นอกจากนั้นเธอยังเรียนรู้ศาสตร์แห่งการนวดแผนโบราณเพื่อบทบาทนี้โดยเฉพาะ โดย Kaprice เป็นผู้ลงมือสอน มะหมี่ นวดด้วยตัวเอง เนื่องจาก Kaprice เองก็เคยศึกษาวิธีนวดแผนโบราณมาก่อนแล้ว Kaprice พามะหมี่ไปทดลองนวดด้วยการเป็นผู้ถูกนวดก่อน เพราะผู้กำกับต้องการให้มะหมี่ชินกับความรู้สึกของคนที่ถูกนวดว่าเป็นอย่างไร ทดลองด้วยหลายๆ วิธีการเพื่อให้รับรู้ถึงความแตกต่างของการนวดแต่ละแบบ หลังจากนั้นนึงค่อยให้มะหมี่พูดถึงการนวดว่า "หมี่ต้องเรียนนวดแผนโบราณอยู่นาน ก็เกือบๆ หนึ่งปีค่ะ เรียนหลายแบบมาก ช่วงแรกต้องเป็นคนที่ถูกนวดก่อนแล้วค่อยเปลี่ยนมาเป็นคนนวดคนอื่นแทน ตัวหมี่เองจะรู้สึกว่าท่านวดมันก็จะเป็นท่านวดแบบไทยๆ ที่เห็นกันทั่วไปเวลานวดแผนโบราณ แต่สำหรับฝรั่ง เขาจะรู้สึกว่ามันเป็นท่าที่อีโรติกมาก"

  • Gavan O' Herlihy (บิลลี่)
    นักแสดงชาวอเมริกัน ซึ่งเป็นลูกของนักแสดงฮอลลีวูด Don O' Herlihy และมีผลงานมากมายเช่น เรื่อง Willow ซึ่งแสดงกับ Val Kilmer, Superman 3 และ Never Say Never Again กับ Sean Connery

  • วศา วัชรยนต์ (น้อย)
    นางแบบและนักแสดงชาวไทย ซึ่งได้รับบทที่ท้าทายเพราะต้องแสดงเป็นบาร์เกิร์ลที่พูดภาษาอังกฤษได้

ทีมงานผลิตภาพยนตร์

  • Kaprice Kea (บทภาพยนตร์/กำกับการแสดง)
    ผู้กำกับภาพยนตร์อิสระชาวอังกฤษ กำลังใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงเทพฯ และกำลังก่อตั้งอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในด้านการกำกับการแสดง การสอนการถ่ายทำภาพยนตร์ และการแสดง เขายังกำกับภาพยนตร์โฆษณาในประเทศไทยอีกด้วย Kaprice เป็นตัวอย่างของผู้ทำภาพยนตร์อิสระแบบที่เรียนรู้ด้วยตัวเอง ด้วยประสบการณ์และความรักในการทำภาพยนตร์

    ในช่วงประมาณปี 1990 Kaprice ก่อตั้ง The Peeping Tom's Club ในโซโห กรุงลอนดอน โดยเป็นสถานที่พบปะกันของนักทำหนังอิสระ ในปี 1993 Kaprice ได้ทำภาพยนตร์สั้น 35 มม. เรื่อง Honeymoon Beyond ซึ่งผู้กำกับ Danny Boyle (Trainspotting, The Beach, 28 Days Later) ได้กล่าวถึงว่า "ยอดเยี่ยม ถ่ายได้อย่างโดดเด่น มีพลังและวิสัยทัศน์"

    หลังจากนั้น เขาได้กำกับภาพยนตร์เรื่อง The Hurting ซึ่งเป็นเรื่องราวของความรักและการรักษาซึ่งได้ฉายในซิดนีย์ และได้รับรางวัล Best Producer's Award ที่ Raindance

    Butterfly Man นับว่าเป็นภาพยนตร์ยาวเรื่องแรกของเขา

  • Tom Walker (โปรดิวเซอร์)
    เขาได้ก่อตั้งบริษัทภาพยนตร์ De Warrence Pictures Ltd. ในปี 1996 ที่ประเทศอังกฤษ ในตอนที่เขาอายุได้เพียง 22 ปีเท่านั้น ในปี 1997 เขาก็ได้อำนวยการสร้างและกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกคือ Monk Dawson นำแสดงโดย John Michie, Martin Kemp และ Paula Hamilton ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉายที่อังกฤษในปี 1998 ได้รับการตอบรับอย่างดีและได้ถูกนำไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์ทั่วโลก เขาได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมที่งาน UK Creative Freedom Awards ครั้งที่ 3 ในปี 1998 เขาได้รับการเสนอชื่อโดย BAFTA สำหรับรางวัล Carl Foreman สำหรับผู้ทำหนังหน้าใหม่ยอดเยี่ยม ในปี 2000 เขาได้เข้าร่วมในโครงการ EAVE ซึ่งให้ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาโครงการสำหรับภาพยนตร์และโทรทัศน์ของยุโรป โดยได้รับการสนับสนุนจาก The Media Programme and Skillset

    เขาเกิดที่ประเทศไทย ทำให้เขาสามารถพูดไทยได้ เขามีตำแหน่งเป็น Executive Committee Member ของ Anglo-Thai Society โครงการภาพยนตร์เรื่องต่อไปของเขาก็คือ White Rabbit ภาพยนตร์แนวฆาตกรรมลึกลับ ถ่ายทำที่ประเทศไทย ขณะนี้เขากำลังร่วมจัดการ International Arts Entertainment กับ Alan Greenspan ที่ลอสแองเจลิส

  • สินค้าที่เกี่ยวข้อง
    คลิกดูรายละเอียด

  •  

    Top
    E-Mail

    Password


    Community
    Activity
    Photo Contest
    Bey Blade
    Cartoon 9
    Chat Room
    D-3
    D-Terminal
    D-Power
    Digimon
    Download
    Market Place
    Micro pet
    Quiz
    Can not select dB