ฟังดนตรีที่มีแบบแผนอย่าง "โมสาร์ท" ช่วยสร้างพัฒนาการได้นะครับ
รอยเตอร์/ผู้จัดการออนไลน์ - นักดนตรีมะกันกระตุ้นให้ผู้ปกครองหันมาสนใจ โมสาร์ท เอฟเฟกต์ มากขึ้น เพื่อใช้ดนตรีส่งเสริมพัฒนาการลูกน้อย หลังนักวิทยาศาสตร์วิจัยว่าดนตรีช่วยเสริมสร้างเหตุผลและความจำ เน้นได้รับดนตรีที่มีระเบียบแบบแผนอย่างเพลงของโมสาร์ทในช่วงต้นของชีวิตก่อให้เกิดประโยชน์มหาศาล ขณะเดียวกันยอมรับว่ามีดนตรีที่เป็นพิษอย่างดนตรีที่เสียงดังหนวกหู และชีวิตในโลกที่ยุ่งเหยิงยังต้องการความเงียบสงบมากกว่าเสียงเพลง
ดอน แคมป์เบลล์ (Don Campbell) ครูและนักดนตรีชาวอเมริกันออกมากระตุ้นให้พ่อแม่ใช้ดนตรีเป็นเครื่องบำบัดและส่งเสริมพัฒนาการของลูกน้อย โดยก่อนหน้านี้เขาได้แต่งหนังสือชื่อ เดอะ โมสาร์ท เอฟเฟกต์ (The Mozart Effect) ซึ่งเป็นหนังสือขายดีติดอันดับเบสต์เซลเลอร์ (best seller) ในปี 1997 แคมป์เบลล์เป็นในนักประพันธ์เพลงที่มีชื่อเสียงและเชื่อมโยงดนตรีเข้ากับการเยียวยาสุขภาพ นอกจากเขียนหนังสือแล้วเขายังนำเพลงของโมสาร์ทมาทำเป็นชุดซีดีชื่อ "มิวสิก ฟอร์ เดอะ โมสาร์ท เอฟเฟกต์" (Music for the Mozart Effect)
เสียงทุกชนิดมีผลต่อจิตใจ แต่ควรเลือกฟังเสียงที่มีคุณภาพอย่างดนตรีที่ไม่อึกทึกเกินไป
ส่วน โมสาร์ท เอฟเฟกต์ เป็นคำที่ประดิษฐ์ขึ้นโดย อัลเฟรด เอ โทมาติส (Alfred A. Tomatis) ซึ่งมีนัยถึงการเพิ่มขึ้นของพัฒนาการทางสมองที่เกิดกับเด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบ เมื่อพวกเขาฟังดนตรีของ โวล์ฟกัง อมาดิอุส โมสาร์ท (Wolfgang Amadeus Mozart) และแน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะแสดงอัจฉริยภาพในช่วงเดือนแรกของชีวิตอย่างโมสาร์ท นักดนตรีผู้ยิ่งใหญ่ที่เริ่มฟังดนตรีตั้งแต่ยังเป็นทารกในครรภ์และแสดงศักยภาพทางดนตรีด้วยการประพันธ์เพลงตั้งแต่อายุ 4 ขวบ แต่จากงานเขียนของแคมป์เบลระบุว่าการรับฟังดนตรีเพียงเล็กน้อยในช่วงต้นของชีวิตก่อให้เกิดประโยชน์มหาศาล และแคมป์เบลยังกล่าวอีกว่าเพลงของโมสาร์ทให้ผลดีกว่าเพลงอื่นๆ
ก่อนหน้านี้ในปี 1993 มีการเริ่มศึกษาผลกระทบของดนตรีโมสาร์ทที่มีต่อสุขภาพโดยนักฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย (University of California) ชื่อ ดร.กอร์ดอน ชอว์ (Dr.Gordon Shaw) และ ดร.ฟรานเซส เราสเชอร์ (Dr.Frances Rauscher) ผลจากการศึกษาของทั้งสองพบว่าดนตรีของโมสาร์ทมีส่วนช่วยให้ความสามารถในเชิงตรรกะและความจำของมนุษย์ดีขึ้น
เรามีภาษาซึ่งเป็นสัญชาติญาณนี้ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิดแล้ว และเราจะใช้ประโยชน์จากความสามารถภายในนี้ได้ด้วยการกระตุ้นอย่างถูกต้องที่จะช่วยให้สมองพัฒนาไปทำในสิ่งที่เป็นเหตุเป็นผล ดร.ชอว์กล่าว ส่วน ดร.เราสเชอร์กล่าวว่าพวกเขาได้ทดลองกับหนูให้ฟังเพลงที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ยังอยู่ในท้องจนถึงกำหนดคลอดอีก 60 วัน จากนั้นปล่อยหนูในเขาวงกต ปรากฏว่าหนูที่ฟังเพลงโมสาร์ทจะสามารถออกจากวงกตได้เร็วกว่าและผิดพลาดน้อยกว่า พวกเขาทดลองต่อโดยผ่าสมองหนูเพื่อดูระบบประสาทว่ามีการเปลี่ยนแปลงใดบ้าง พบว่าดนตรีมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงบางส่วนของต่อมฮิปโปแคมปัส (hippocampus) ในสมอง
การจะรับพลังของดนตรีต้องกระทำอย่างมีแบบแผนและช่วงเวลาที่เหมาะสมของการรับรู้ ด้านแคมป์เบลกล่าว สิ่งที่เราค้นหาจากดนตรีคือ รูปแบบ, ท่อนเพลงซ้ำๆ, ความหลากหลาย, ความชัดเจน และเหนือสิ่งอื่นใดคือต้องไม่รับดนตรีมากเกินไป เขากล่าวว่าดนตรีที่เกิดจากการพูดคุยที่ที่มีทำนองและจังหวะหรือการร้องเพลงประสานเสียงในโบสถ์ก็สามารถใช้เป็นเสียงเพื่อการบำบัดได้ นอกจากนั้นเขายังแนะนำอีกว่าเราสามารถหาโอกาสร้องเพลงในกิจกรรมประจำวันอย่างการทำกับข้าว ตากผ้าหรือล้างจานได้ และผู้ปกครองควรจะมั่นใจที่จะสร้างเสียงเพลงให้กับลูกๆ
และจากการศึกษาของ เกออกิ โลซานอฟ (Geogi Lozanov) นักจิตวิทยาชาวบัลแกเรียน พบว่าดนตรีบารอก (baroque) จังหวะช้าๆ ช่วยพัฒนาการเรียนรู้ และเขายังเป็นผู้คิดค้นเทคนิค ซักเจสต์โทพิเดีย (suggestopedia) ที่ช่วยพัฒนาการเรียนรู้ภาษาในผู้ใหญ่ นอกจากนี้งานวิจัยของมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ (John Hopkins University) พบว่าดนตรีร็อกเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้คนกินเร็วขึ้นและเป็นปริมาณมากขึ้นด้วย ในขณะที่ดนตรีคลาสสิกซึ่งจังหวะช้าจะทำให้ผู้คนกินช้าลงและกินในปริมาณน้อย
ผลงานของแคมป์เบลผู้สนับสนุนให้ใช้ดนตรีเพื่อการบำบัดถูกเยาะเย้ยว่าเป็นเพียงวิทยาศาสตร์เทียม และมีแต่ของเล่นมากมายอย่างซีดีเพลงและอุปกรณ์สำหรับเด็กที่เร้าให้พ่อแม่ซื้อเพื่อสนองความต้องการของลูกๆ อย่างไรก็ดีแคมป์เบลออกมาเน้นว่าเขาไม่ได้ต้องการสร้างเด็กมหัศจรรย์หรือเพียงหลอกขายสินค้าให้กับผู้ปกครอง และแจงว่าเขาต้องการที่จะสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ปกครอง หมอและครูว่าดนตรีเป็นเหมือนสิ่งกระตุ้นอันทรงพลังที่ช่วยในการเยียวยาสุขภาพ สร้างสรรค์จินตนาการและก่อให้เกิดการพัฒนา
ดอน แคมป์เบล ครูดนตรีที่สนับสนุนให้ผู้ปกครองหันมาสนใจ "โมสาร์ท เอฟเฟกต์"
"ไม่มีซีดีแผ่นไหนที่คุณฟังแล้วคุณจะฉลาด หรือถ้าคุณเอาเพลงเหล่านี้ให้เด็กๆ ฟังแล้วพวกเขาจะหลับทันที ฟังดูค่อนข้างซื่อเล็กน้อย สิ่งที่เราพูดถึงในที่นี้คือการพัฒนาการรับรู้ทางเสียงแคมป์เบลกล่าว ทุกสิ่งที่เข้ามากระทบหูอย่างเช่นภาษา มันจะกลายเป็นเครื่องมือสำหรับการแสดงอารมณ์และความรู้สึก ความกระตือรือร้นที่มีต่อดนตรีของแคมป์เบลเป็นเหมือนการบำบัดเพื่อความสุขและสุขภาพมากกว่าที่จะเน้นไปที่การรักษาอย่างชัดแจ้ง เขายังกล่าวอีกว่าเด็กๆ จะมีพัฒนาการดีเมื่อได้รับการดูแลอย่างมีระเบียบแบบแผน เราสามารถใช้ดนตรีเป็นตัวกำหนดเวลาเข้านอนของเด็กๆ ได้ แทนที่จะกล่าวว่า ถึงเวลานอนแล้ว ก็เปิดดนตรีให้ฟัง จะทำให้ตารางเวลาในการเข้านอนของเด็กๆ ทำงานทันที
แต่แคมป์เบลก็กล่าวว่าเด็กๆ หลายคนต้องทุกข์ทรมานจากการได้รับเสียงมากเกินไป ผู้ปกครองมักจะไม่เข้าใจว่าเสียงทำให้เกิดความเสียหายได้อย่างไร ทารกเกิดใหม่ต้องปรับสภาพจากสิ่งแวดล้อมในครรภ์ออกมาสู่โลกภายนอกที่แวดล้อมไปด้วยโทรศัพท์ มือถือ โทรทัศน์และวิทยุ บางครั้งอาจจะรวมถึงเสียงรบกวนจากพี่น้องที่แก่กว่า เหล่านี้ระดมเสียงต่างๆ เข้าสู่หูน้อยๆ เขากล่าวว่าเราจำเป็นต้องทราบว่าเราอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยเสียงและสิ่งเร้ามากมาย สิ่งสำคัญในงานของเขาคือการจัดการกับความเครียดและความยุ่งเหยิงของชีวิตวัยเด็ก
ผมมองว่าดนตรีเป็นเหมือนกระแสเลือดที่หล่อเลี้ยงชีวิต แต่ผมก็ยอมรับว่ามีดนตรีบางรูปแบบที่ไม่ดี ดนตรีที่แย่คือดนตรีที่มีเสียงดังรบกวน การอยู่ในโลกยุคใหม่นี้ บางครั้งผมคิดว่าควรจะมีห้องที่เงียบสงบให้พักผ่อนแทนการอยู่ในห้องที่เต็มไปด้วยดนตรีบ้าง เราจำเป็นต้องนึกถึงการสร้างบ้านที่เงียบกว่าและจิตใจที่สงบขึ้น แคมป์เบลให้ความเห็นแม้ว่าเขาจะเห็นด้วยกับการใช้เสียงบำบัดสุขภาพ แต่บางครั้งเราก็ต้องการความสงบทางจิตใจบ้าง
เหล่านี้เป็นการศึกษากระทบผลของดนตรีตะวันตกที่มีผลต่อสุขภาพ ดนตรีไทยเองก็อาจจะมีความมหัศจรรย์มากมายที่เราคาดไม่ถึง หากเริ่มต้นศึกษากันวันนี้คงยังไม่สาย
สำหรับผู้สนใจ "โมสาร์ท เอฟเฟกต์" เชิญเข้าไปค้นหาความหมายต่อกันได้ ที่นี่ www.mozarteffect.com
|