มีรายงานการศึกษาฉบับหนึ่งบอกว่า คนเรานั้นยิ่งโตยิ่งลดระดับการมีความคิดสร้างสรรค์ลง เด็กอายุ 5 ขวบมีความคิดสร้างสรรค์ถึง 98% พออายุ 28 ก็ลดระดับลงเหลือแค่ 5% เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะหลายปัจจัย คนเรายิ่งโตก็ยิ่งคิดมากก็เลยเกิดความยั้งคิด ความคิดสร้างสรรค์ก็เกิดขึ้นยาก เพราะเรามักจะคิดจากความเคยชิน และจะกลัวผิด ส่วนเด็กๆ นั้นไม่กลัวผิด มีการทดลองให้คิดว่า หากโรงงานทำไม้แขวนเสื้อที่ทำด้วยลวด รู้ว่าต่อไปคนจะใช้ไม้แขวนเสื้อที่ทำด้วยพลาสติกมากขึ้น ลองคิดดูว่ามีไม้แขวนเสื้อที่ทำด้วยลวดเหลืออยู่ในสต๊อกแยะเป็นหมื่นๆ อัน จะทำอย่างไรกับของเหล่านี้ โจทย์นี้ให้เด็กอายุ 5 ขวบ คิดสองนาที เด็กบอกวิธีนำไม้แขวนเสื้อที่เหลือไปใช้ได้ถึง 50 อย่าง ส่วนคนอายุ 20 กว่าๆ คิดได้แค่ 5 อย่างเท่านั้น
การทดลองนี้ชี้ให้เห็นว่า เด็กๆ เต็มไปด้วยจินตนาการ ดังนั้น ความต้องการของเด็กจึงต่างไปจากคนโตๆ แล้ว ในระยะหลังนี้จึงมีการแยกกลุ่มเด็กออกต่างหาก เวลาคนจะขายของหรือจัดการแสดงอะไร ก็มักจะต้องคำนึงถึงกลุ่มเด็กเล็กๆ เสมอ
การจัดพิพิธภัณฑ์ก็เหมือนกัน แต่เดิมทำโดยไม่ต้องมีการศึกษาความต้องการของผู้เข้าชม ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์มักจะแยกให้มีส่วนสำหรับเด็กๆ ด้วย ผมเคยไปดูพิพิธภัณฑ์ที่มีการจัดแสดงเรื่องราวต่างๆ ใหม่หลายแห่ง เห็นเด็กๆ เข้าไปเล่นอะไรต่ออะไรกันมากมาย พิพิธภัณฑ์จึงต้องมีภัณฑารักษ์ที่มีความรู้ด้านจิตวิทยาการศึกษา และมีหน้าที่หลักในการทำการสำรวจความสนใจของเด็กๆ ก่อนที่จะมีการออกแบบการจัดแสดงนิทรรศการหรือกิจกรรมต่างๆ กิจกรรมเหล่านี้มักจะมีการปรับเปลี่ยนไปเป็นระยะๆ ไม่ใช่เป็นสิ่งเดิมๆ ตลอดทั้งปี
ทำอย่างไรจึงจะให้เด็กได้ค้นพบความรู้ด้วยตนเอง แทนที่ครูจะเน้นผู้บอก ผู้สอนเสียหมด เด็กๆ อยากรู้อยากเห็น การออกแบบจัดเรื่องราวให้เด็กได้ค้นพบความรู้ด้วยตนเอง สามารถทำได้ทั้งที่อาศัยเทคโนโลยีช่วย และทั้งที่เป็นการออกแบบง่ายๆ
สิ่งที่ท้าทายผู้จัดพิพิธภัณฑ์ก็คือ ทำอย่างไรจึงจะดึงเอาความรู้ที่สั่งสมกันมามากมายนั้น มาจัดใหม่ให้เป็นที่น่าสนใจสำหรับกลุ่มผู้ชมต่างวัย ฝ่ายวิชาการของพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ในเวลานี้มีหลายท่าน แต่ละท่านก็มีความรู้ ความเชี่ยวชาญต่างๆ กันไป กลุ่มคนที่พิพิธภัณฑ์จำต้องมีก็คือ ผู้ที่จะนำเอาความรู้จากผู้เชี่ยวชาญมาใช้ประโยชน์ในการจัดแสดง ในพิพิธภัณฑ์แต่ละแห่งนั้น สิ่งของและเรื่องราวที่จะนำมาแสดงนั้นมีเพียง 10-20% ของๆ ที่มีทั้งหมด ผู้ทำหน้าที่ภัณฑารักษ์ยุคใหม่จึงต้องศึกษาลีลาการเรียนรู้ของเด็กๆ ด้วย
พิพิธภัณฑ์แห่งแรกของไทยที่พยายามจัดแบบให้เด็กมีส่วนร่วมได้แก่ พิพิธภัณฑ์เด็กที่สวนจตุจักร เป็นของกรุงเทพมหานครที่มอบให้บริษัทเอกชนเข้ามาจัดการที่นั่น แม้จะมีสภาพที่ไม่กว้างขวางมากนัก แต่ก็พยายามจัดการแสดงแบบให้เด็กสามารถลงมือทำ เรียนรู้ด้วยตนเองได้ ผมเคยไปช่วยเป็นประธานพิพิธภัณฑ์เด็กนี้ในระยะสั้นๆ และได้แนะนำให้บริษัท Lord ซึ่งเป็นผู้มาจัดทำแผนแม่บทพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ไปศึกษาด้วย พิพิธภัณฑ์เด็กของเรามีเด็กๆ ไปเข้าชมปีละเป็นแสนคน นับว่าประสบความสำเร็จมาก ขณะนี้ทราบว่ามีบริษัทเอกชนให้ทุนมาทำอาคารใหม่ด้วย
พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ของเราจะเริ่มต้นจากความเป็นมาของผู้คนในประเทศไทย และดินแดนอุษาคเนย์ก่อนในการเปิดตัวแนวคิดใหม่ จะมีนิทรรศการที่เน้นการเติบโตของชุมชนบางกอก แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตที่อาศัยแม่น้ำเป็นถิ่นพำนักและทำมาหากิน ต่อไปก็จะมีการจัดแสดงวิถีชีวิตของผู้คนตามลุ่มน้ำอื่นๆ ตลอดจนการไปมาหาสู่ การเคลื่อนย้ายของผู้คน ทั้งทางบก และทางน้ำด้วย
นอกจากเรื่องประวัติศาสตร์ประเทศไทย ชีวิตของผู้คนในอุษาคเนย์แล้ว ก็ยังมีเรื่องธรรมชาติวิทยาของดินแดนแถบนี้ด้วย เด็กๆ คงได้เรียนรู้ถึงภูมิศาสตร์ และธรรมชาติของพืช สัตว์ ทั้งสัตว์บก และสัตว์น้ำ ผมเคยไปดูพิพิธภัณฑ์ที่นิวซีแลนด์ เขามีการจำลองลักษณะของดิน หิน และน้ำ ตลอดจนมีสัตว์ทั้งที่สตัฟฟ์ และที่มีชีวิตให้เห็น โดยให้เด็กได้เดินดูและมีคำถามให้ตอบเป็นระยะๆ ไปด้วย สำหรับพิพิธภัณฑ์ของเราก็คงจะทำให้น่าสนใจไม่แพ้กัน
------------------
ผู้สนใจจะบริจาคสิ่งของหรือให้ขอยืม สิ่งของที่จะจัดแสดงนิทรรศการ
โปรดติดต่อได้ที่ :สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ ชั้น 21 อาคารทิปโก้ 118/1 ถนนพระราม 6 แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กท.10400 โทร. 02-357-4001-6 โทรสาร 02-357-4000
|