Home Shop Mag'z Member Basket Thai / English Site Map
Webboard Book Toy Music Movie
Book
  >  home >  book >  หนังสือน่าอ่าน > 
    เติมชีวิต แต้มความฝัน สร้างจินตนาการผ่าน “สื่อเด็ก”ผู้จัดการรายวัน 28 มีนาคม 2548

วัยเด็กเป็นช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้ ความคิดและจินตนาการจะพร่างพราวกว่าในช่วงอายุอื่น หากได้รับการส่งเสริมจากผู้ใหญ่เหมาะสม วันข้างหน้าเด็กน้อยย่อมเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ

สื่อสร้างสรรค์สำหรับเด็ก คือสิ่งที่จะช่วยให้พวกเขาพัฒนาทักษะและมีพัฒนาการตามช่วงวัย ในยุคที่สังคมไทยพยายามเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ สื่อเหล่านี้จึงยิ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้เด็กไทยหรือผู้ใหญ่ในอนาคตเจเนอเรชันนี้ไปถึงจุดหมายที่ (บรรดาพ่อแม่) ตั้งความหวัง

และอีกไม่นานนี้ เด็กไทยทุกคนกำลังจะได้ของขวัญแรกเกิดแบบพิเศษ...เรียกว่าอุแว้! ลืมตาดูโลก ความอบอุ่นและความรักจากรัฐบาลจะมากองอยู่ตรงหน้าทันที

นั่นก็คือ “ถุงรับขวัญ”

เรียนรู้อย่างไรให้สร้างสรรค์

น.พ.อุดม เพชรสังหาร นักวิชาการสถาบันวิทยาการการเรียนรู้ (สวร.) องค์กรที่มีบทบาทในการพัฒนาศักยภาพของเด็กไทย โดยเฉพาะพัฒนาการทางด้านสมองเพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้กล่าวถึงความสำคัญในการกระตุ้นพัฒนาการของเด็กผ่านสื่อประเภทต่างๆ ว่า

เริ่มต้นจากสื่อประเภทหนังสือ การที่แม่อ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เสียงจะกระตุ้นพัฒนาการของเด็กอย่างต่อเนื่องเป็นวงจร เพราะช่วง 7 อาทิตย์แรก (ประมาณ 2 เดือน) สมองของทารกในครรภ์จะเริ่มฟอร์มตัว สิ่งสำคัญที่ผ่านเข้าไปพร้อมเสียงของแม่คือความรู้สึก และประกอบกับธรรมชาติของเด็กต้องการความอบอุ่นจากแม่อยู่แล้ว เมื่อคลอดออกมาเสียงแม่จึงเป็นสิ่งเดียวที่เชื่อมระหว่างตอนอยู่ในครรภ์กับโลกภายนอก ทำให้เด็กเกิดความรู้สึกคุ้นเคยและปลอดภัย

“เด็กตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึง 2 ขวบ จะเป็นช่วงวัยที่เซลล์สมองสามารถเชื่อมต่อกันได้มากที่สุด เซลล์สมองคนเราตอนแรกมันไม่ได้เชื่อมต่อกัน มันมีเป็นล้านๆ เซลล์ การเล่านิทาน อ่านหนังสือให้เด็กวัยนี้ฟังจะช่วยเชื่อมให้เซลล์สมองเกิดการเชื่อมโยงและแตกกิ่งก้านสาขา Limbic System ซึ่งเป็นระบบสมองส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์และความจำ”

ฉะนั้น การที่เด็กได้สัมผัสกับสื่ออย่างหนังสือ จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาวงจรสมองของเด็กให้เริ่มเข้าใจและจดจำรูปภาพ ภาษา ผ่านการอ่าน ทั้งนี้ นพ.อุดมกล่าวว่า เดิมมีความเชื่อว่าคนที่มีเซลล์สมองเยอะจะฉลาด แต่มีการวิจัยแล้วพบว่าการเชื่อมต่อของเซลล์สมอง (Synaptogenesis) ที่ต่างกันจะมีผลต่อความฉลาดในเด็กแต่ละคนอีกด้วย ดังนั้น หากเด็กมีการเชื่อมต่อของเซลล์สมองมากเท่าใดก็จะยิ่งเป็นเด็กฉลาดมากขึ้นเท่านั้น

ส่วนสื่อสำหรับเด็กประเภทอื่นๆ นั้น นพ.อุดมกล่าวว่า แม้สื่อประเภทเคลื่อนไหวจะสามารถดึงดูดความสนใจของเด็กได้ดีกว่าสื่ออย่างหนังสือหรือภาพนิ่ง หากแต่ก็ไม่เหมาะสมที่จะใช้กับเด็กเล็ก

“สื่อมัลติมีเดียไม่เหมาะสำหรับเด็กเล็กๆ เพราะจะกระตุ้นเด็กเกินไปจนไม่มีสมาธิ การกระตุ้นด้วยภาพที่เคลื่อนไหวไวเกินไปอาจทำให้เด็กเกิดความเครียด เด็กเล็กๆ ต้องการสิ่งแวดล้อมที่เงียบสงบ เด็กต้องเรียนรู้และประทับภาพในความทรงจำ ฉะนั้น เราจะเห็นว่าเด็กบางคนเขาต้องอ่านหนังสือเรื่องเดิมซ้ำเป็นพันๆ ครั้ง แต่สื่อมัลติมีเดียมันเปลี่ยนภาพนาทีหนึ่งไม่รู้กี่ครั้ง สื่ออิเล็กทรอนิกส์เหมาะกับเด็กโตมากกว่า ยังไม่จำเป็นต้องใช้ในเด็กวัยนี้ จึงไม่ควรให้ลูกดูทีวี หรือเล่นเกมคอมพิวเตอร์”

ทั้งนี้ น.พ.อุดมเพิ่มเติมว่า เด็กในช่วงอายุ 0-3 ปี ภาพที่ใช้ในสื่อไม่ควรซับซ้อนมาก และควรเป็นภาพเหมือนจริงเพื่อกระตุ้นและปูพื้นฐานให้เด็กมีความเข้าใจ สีสันควรออกไปทางแม่สีแต่ก็ต้องเบรกด้วยการทำให้ดูเย็นตาลง ไม่หวือหวาจนเกินไป

เมื่อถามว่าสื่อสร้างสรรค์ประเภทใดจึงจะเหมาะต่อพัฒนาการเด็ก ?

น.พ.อุดมบอกว่า สื่ออะไรก็ได้ที่ช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้ง 5 ของเด็ก อันจะก่อให้เกิดพัฒนาการที่ดีขึ้น ทั้งสื่อที่มีภาพ เสียง หรือแม้แต่พื้นผิวที่ขรุขระหรืออ่อนนุ่ม ดังนั้น ของเล่นเด็กจึงสำคัญไม่แพ้กัน แต่ผู้ใหญ่มักมองเป็นเพียงของเล่น ทั้งที่แท้จริงแล้วของเล่นสามารถสร้างเสริมพัฒนาการของลูกได้ หากพ่อแม่รู้จักเลือกให้เหมาะสม

“หนังสือเด็กช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาดีขึ้น พ่อแม่มีความพยายามฝึกสอนให้ลูกรักการอ่าน บริษัทก็ผลิตหนังสือสำหรับเด็กเพิ่มขึ้น ส่วนของเล่นที่เหมาะสำหรับเด็กควรเป็นของเล่นที่จะช่วยสร้างพัฒนาการ เป็นของเล่นประเภทที่เรียกว่า Unstructure Toys หรือเป็นของเล่นที่ไม่สำเร็จรูป ซึ่งก็ยังมีน้อยและราคาสูงลิ่ว จึงไม่สามารถสู้กับของเล่นสำเร็จรูปอย่างหุ่นยนต์ได้ พ่อแม่ก็ยังไม่ค่อยเห็นความสำคัญของของเล่นเด็กประเภทนี้”

ส่วนวัสดุที่ใช้ทำของเล่นนั้นจะเป็นพลาสติกหรือไม้ก็ได้ น.พ.อุดมบอกว่าขึ้นกับการออกแบบ ถ้าวัสดุไม่เป็นพิษก็ไม่มีปัญหา แต่สิ่งที่เขาห่วงคือประเด็นเรื่อง “คุณภาพ” ของสื่อสร้างสรรค์สำหรับเด็กในสังคมไทย

“จุดที่ผมห่วงก็คือ คนมักจะมองข้ามเรื่องนี้ รายการโทรทัศน์บ้านเราแทบไม่มีรายการสร้างสรรค์สำหรับเด็ก คนทำหนังสือเพื่อเด็กมักมองว่าขายไม่ได้ แต่ก็มีหนังสือบางเล่มที่ขายดี แสดงว่าสังคมเริ่มตอบสนอง ทุกคนต้องไม่ท้อ ผมคิดว่าถ้าเราทำดีๆ ในอนาคตสิ่งดีๆ มันจะกลับมาเอง อย่างน้อยถ้าเด็กเติบโตขึ้นเป็นคนดีมีคุณภาพ อานิสงส์จากการนี้ก็จะกลับคืนมาสู่สังคมเรา”

“ถุงรับขวัญ” ถุงสร้างสรรค์ใบแรกของเด็กไทย

จากแนวความคิดของรัฐบาลว่า เด็กไทยทุกคนที่เกิดมาถือเป็นของขวัญล้ำค่าของสังคม เพราะฉะนั้น สังคมควรต้อนรับเขา โดยการรับขวัญซึ่งเป็นประเพณีไทยที่เด็กทุกคนเกิดมาจะต้องถูกรับขวัญ จึงนำมาสู่การริเริ่มโครงการที่มีชื่อว่า “ถุงรับขวัญ” ซึ่งทาง สวร. เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินโครงการ

“แนวคิดฐานของนักวิชาการเราก็คือ ทำยังไงเราจะทำให้เกิด Synaptogenesis ได้มากที่สุด เพราะฉะนั้น การกระตุ้นด้วยของเล่น การกระตุ้นด้วยการเล่านิทาน อ่านหนังสือให้ฟัง การกระตุ้นด้วยเพลงกล่อมเด็กคือสิ่งที่เรามอง ทีนี้เราจะมาพ่วงยังไงให้ 3 เรื่องนี้เป็นวิถีไทยอย่างแท้จริง เราก็เอาเรื่องรับการรับขวัญมาผูกเข้าด้วยกัน รับขวัญแล้วก็ต้องทำให้เกิดกระบวนการเชื่อมต่อของเซลล์สมองให้มากที่สุด ก็พอดีมีโอกาสได้พูดคุยกับนายกรัฐมนตรีตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้ว นายกฯ ก็เห็นด้วย” น.พ.อุดมเล่าถึงที่มาของโครงการ

น.พ.อุดมเสริมว่า จากหลักใหญ่ที่ต้องการให้สังคมรู้ว่าเด็กมีคุณค่า มีความหมายต่อสังคมและสังคมชื่นชมเด็ก ทางโครงการจึงคิดว่าอาจจะให้ผู้ใหญ่ที่เป็นที่นับถือในชุมชนเป็นผู้มอบถุงดังกล่าวเป็นการรับขวัญเด็กที่เกิดมา

ภายในถุงรับขวัญนั้นจะบรรจุไปด้วยของขวัญ 5 อย่าง ได้แก่ หนึ่ง หนังสือภาพที่ใช้สำหรับกระตุ้นพัฒนาการของเด็กโดยเฉพาะ โดยหนังสือภาพดังกล่าวจะใช้ได้กับเด็กวัยตั้งแต่ 0-3 ปี สอง หนังสือนิทานสำหรับพ่อแม่ไว้อ่านให้เด็กฟัง เนื่องจากพ่อแม่สมัยนี้ไม่ค่อยรู้จักนิทานเพื่อนำไปเล่าเรื่องราวให้ลูกๆ ฟังมากเท่าใดนัก อีกทั้งหนังสือนิทานส่วนใหญ่มีราคาแพง จึงเห็นควรมีนิทานมาพร้อมถุงรับขวัญด้วย สาม ของเล่นที่จะช่วยกระตุ้นพัฒนาการ โดยเฉพาะประสาทสัมผัสของเด็ก สี่ เพลงกล่อมเด็กที่จะทำให้เด็กมีความสุข โดยได้ข้อมูลและเนื้อเพลงจากพ่อเพลงแม่เพลงพื้นบ้าน หรือคนสูงอายุของแต่ละภาค และห้า คู่มือพ่อแม่สำหรับใช้ในการเลี้ยงดูบุตร

“เราพบว่าเดี๋ยวนี้มีพ่อแม่ไทยมีเพียง 10 % เท่านั้นที่รู้ว่าควรเลี้ยงลูกยังไง แต่อีก 90 % ไม่รู้ ฉะนั้น การสอนให้พ่อแม่รู้ว่าการเลี้ยงลูกที่ถูกต้องทั้งในแง่วิทยาศาสตร์ ในแง่สังคมจริยธรรม เป็นสิ่งที่เราเห็นว่าควรจะต้องทำ”

ขณะนี้โครงการ “ถุงรับขวัญ” กำลังอยู่ในขั้นการศึกษาทดสอบ จะเริ่มดำเนินการอย่างเป็นทางการในวันที่ 28 กรกฎาคมปีนี้ ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่เด็กไทยทุกคนที่กำลังจะถือกำเนิดในวันมหามงคลดังกล่าวเป็นต้นไป

สื่อ “หนังสือ” ดีที่สุด ?

ภายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 33 ที่จัดขึ้น ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นอกจากหนังสือทั่วไปและแบบเรียนแล้ว สื่ออุปกรณ์การศึกษาสำหรับเด็กก็ยังมีวางจำหน่ายมากมาย เราจึงเห็นสื่อสร้างสรรค์หลากหลายประเภท ทั้งสื่อมัลติมีเดีย, หุ่นนิ้วมือหรือหุ่นมือ, บัตรภาพเตรียมความพร้อม ให้เด็กๆ ฝึกผสมคำ, นับเลข และสื่อหนังสือนิทานทั้งแบบธรรมดาและหนังสือภาพป๊อบ-อัพ สี่สีสวยงาม ไปจนกระทั่งของเล่นที่ช่วยเสริมทักษะและพัฒนาการของเด็ก

แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กหลายคนยืนยันตรงกันว่า “หนังสือเป็นสื่อสร้างสรรค์ที่ดีที่สุด”

แม้แต่ ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ หรือเจ้าของนามปากกา “วินนี่ เดอะ ปุ๊” ผู้เริ่มต้นสอนลูกสาวให้รักการอ่านผ่านสื่ออย่าง “แสตมป์” จนเป็นที่มาของวรรณกรรมจากแสตมป์มากมาย แต่สุดท้าย ไม่ว่าจะผ่านเครื่องมือประเภทไหน สื่อสุดท้ายที่ช่วยเติมเต็มพัฒนาการเด็กก็คือ หนังสือ

พรอนงค์ นิยมค้า เลขาธิการมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก (ThaiBBY) กล่าวว่า เมืองไทยอาจดูเหมือนมีหนังสืออยู่มาก แต่ทว่าจำนวนหนังสือเด็กแต่ละช่วงอายุนั้นมีปริมาณไม่เพียงพอ แม้ปัจจุบันสถานการณ์หนังสือเด็กจะดีขึ้นมากแล้วเมื่อเปรียบเทียบกับ 10 ปีก่อน แต่ก็ถือว่ายังน้อยอยู่มาก

“หนังสือเป็นเครื่องมือ เป็นสื่อที่ใช้ได้ผลที่สุดสำหรับเด็ก หนังสือสามารถช่วยทางด้านจิตใจเด็กได้มากทุกเรื่องในชีวิตที่เด็กสงสัย ไม่ว่าจะเป็นความรัก ความตาย เราสามารถใช้หนังสือเป็นสื่อได้ คือเด็กทุกคนชอบหนังสือ แต่ว่าเมืองไทยเราสภาพแวดล้อมด้านหนังสือเด็กมีน้อย เพราะฉะนั้น เด็กไทยก็เลยขาดหนังสือตั้งแต่เด็ก”

ทางมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็กจึงพยายามส่งเสริมให้พ่อแม่ได้ยืมหนังสือไปอ่านให้ลูกฟัง เพื่อหวังจะสร้างนักอ่านรุ่นใหม่ในอนาคต ไม่เพียงแต่หนังสือสำหรับเด็กทั่วไปเท่านั้น ทางมูลนิธิยังเห็นถึงความสำคัญของหนังสือสำหรับเด็กด้อยโอกาสอย่างเด็กชาวเขา และเด็กพิการอีกด้วย เช่น หนังสือแฝด หรือ twin book ที่สามารถอ่านได้ทั้งคนตาบอดและคนตาดี ทำให้แม่ลูกที่มีปัญหาสามารถสื่อสารผ่านการอ่านหนังสือร่วมกันได้

“หนังสือเด็กเป็นสื่อสากล ทาง ThaiBBY ถึงบอกว่าหนังสือเด็กเป็นสื่อสันติภาพจะทำให้คนเข้าใจและร่วมมือกัน ถ้าเด็กรักหนังสือจะทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่สนใจเรื่องการเรียนรู้มากขึ้น หนังสือมีความดีตรงที่ว่ามันจะเป็นสื่อที่กระตุ้นให้เด็กคิดเอง”

เกิดแก้ว กรรณสูต คุณครูสาวผู้ผ่านการสอนเด็กอนุบาลทั้งในและต่างประเทศแสดงทัศนะว่า พ่อแม่และครูต่างชาติจะใช้หนังสือเป็นสื่อสอนเด็กมากกว่าในบ้านเรา เท่าที่เธอเห็นประเทศไทยขาดหนังสือเด็กในสถานการณ์ต่างๆ อาทิ ในสถานการณ์ที่เด็กกลัว โกรธ หรือเสียใจ ซึ่งต่างประเทศจะผลิตหนังสือเหล่านี้เพื่อให้พ่อแม่ใช้สื่อกับลูกในสถานการณ์นั้นโดยเฉพาะ

“ถ้ามีนิทานเกี่ยวกับชีวิตประจำวัน สิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่ผู้ใหญ่คิดไม่ถึง ก็อาจจะดีสำหรับเด็ก เด็กไทยไม่ได้ต่างจากเด็กฝรั่งเลย แต่มันแล้วแต่พ่อแม่ ครู สภาพแวดล้อม ถ้าเขาแนะนำได้ดีเด็กก็จะสนใจ เพราะเด็กทุกคนสนใจหนังสืออยู่แล้ว”

แต่เมื่อเอ่ยถึงหนังสือที่มีลักษณะพิเศษอย่าง หนังสือประเภท board book ที่ช่วยเสริมพัฒนาการการคิดและการเรียนรู้ การมอง การสัมผัส ให้เด็กๆได้ฝึกสายตา ความจำ กล้ามเนื้อมือ หรือหนังสือภาพแบบ ป๊อบ-อัพ ทั้งสองท่านก็มีความคิดเห็นตรงกันว่า แม้จะมีข้อดี แต่ก็ไม่ได้จำเป็นมากถึงขั้นเด็กทุกคนต้องมี เพราะราคาหนังสือประเภทนี้จะสูงมาก

“หนังสือป๊อบ-อัพ จะดึงดูดผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก เด็กเขาดูทีเดียวเขาอาจสนุก แต่มันมีปัญหาตรงที่หนังสือมีราคาแพงแล้วเด็กมักฉีก” รูปลักษณ์ที่สะดุดตาจึงไม่ใช่สื่อที่เหมาะสำหรับเด็กเสมอไป

พรอนงค์ยกตัวอย่างคอนเซ็ปต์เทศกาลหนังสือเด็กและเยาวชนปีที่แล้ว ที่ว่า “เล่นๆ เรียนๆ กับดิน ไม้ ทราย น้ำ” ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ต้องซื้อหา แต่เป็นของเล่นที่วิเศษที่สุดสำหรับเด็ก ต่างจากสื่อทันสมัยราคาแพง

“พื้นฐานที่สำคัญที่สุดคือสิ่งที่จะกระตุ้นให้เด็กคิดเอง พวกวิดีโอ เทปเสียงมันจะใช้ประโยชน์ได้ก็จริง แต่มันไม่เหมือนกับสื่อแบบที่แม่อ่านนิทานให้ลูกฟัง ฟังนิทานจากเทปอาจจะสนุก น่าสนใจ แต่จะไม่ได้รับความอบอุ่น มัลติมีเดียอาจจะมีประโยชน์ในเรื่องการศึกษาเรียนรู้ก็จริง แต่ในเรื่องความสัมพันธ์ดิฉันคิดว่าสำหรับเด็กเล็กๆ มีความสำคัญกว่าเรื่องการเรียนรู้ เราสร้างพื้นฐานตรงนี้ให้ดีก่อนค่อยไปพัฒนาเรื่องการเรียนรู้ เรื่องเด็กเก่งมาทีหลัง สิ่งที่คิดว่าสำคัญกว่าความเก่งคือความรัก ความผูกพัน และความสุขในครอบครัว ถ้าเราเลี้ยงดูเขาอย่างถูกต้อง เด็กก็สามารถคิดเองและเรียนรู้เองได้ พวกสื่อต่างๆ มันคือเครื่องมือเท่านั้น เราอย่าเอาเครื่องมือมาเป็นตัวเลี้ยงลูก ตัวเราต้องเลี้ยงลูกเอง” พรอนงค์สรุป

ด้าน อ. กุลวรา ชูพงศ์ไพโรจน์ หรือ “ป้ากุล” อาจารย์ประจำสาขาวรรณกรรมสำหรับเด็ก ภาควิชาบรรณารักษ์ศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นวิทยากรการอบรมเชิงปฏิบัติการประดิษฐ์และสร้างสรรค์สื่อสำหรับเด็กประกอบการเล่านิทาน ให้แง่มุมและเทคนิคการผลิตสื่อเพื่อพัฒนาเด็กว่า

“สื่อสำหรับเด็กตอนนี้ก็มีหลากหลายประเภท และราคาค่อนข้างสูง แต่สื่อสำเร็จรูปบางทีเด็กเองก็ไม่ค่อยได้คิดเพราะว่ามีคนอื่นคิดมาก่อน สำหรับที่สอนอยู่ก็คือ นำเอาวัสดุที่หาง่ายมาผลิตอย่างพับกระดาษและแทรกนิทานเข้าไป มันก็เป็นจินตนาการ เล่าไปพับไปก็ได้สื่อออกมา แล้วก็เอาไปแต่งนิทานต่อได้อีก มันก็ไม่รู้จบ เราก็สามารถกระตุ้นให้เด็กคิดนิทานไปได้เรื่อยๆ นอกจากเด็กจะได้ทักษะการฟัง การจินตนาการ การคิดเรื่อง เขาก็ได้เรียนรู้เรื่องคณิตศาสตร์โดยไม่รู้ตัว เพราะกระดาษเป็นรูปสี่เหลี่ยม สามเหลี่ยมบ้าง มันจะค่อยๆ ซึมซับ เป็นคณิตศาสตร์ที่เห็นภาพก็จะช่วยเสริมวิชาอื่นไปด้วย”

นอกจากจะเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์แล้ว นิทานต่างมักแฝงคติสอนใจให้แง่คิดกับเด็กๆ ค่อยๆ ซึมซับ และหากเด็กได้ลงมือทำร่วมกับครูหรือพ่อแม่ก็จะมีพัฒนาการที่ดี อย่างน้อยที่สุดก็เป็นการฝึกทักษะด้านกล้ามเนื้อมือและสายตาให้สัมพันธ์กัน

“อย่างเวลาเล่านิทานเราก็ทำหุ่นนิ้วมือ เวลาเด็กเล็กๆ ใส่เล่านิทานเขาก็ได้พัฒนากล้ามเนื้อนิ้วมือ กล้ามเนื้อนิ้วมือก็แข็งแรงก่อนจะไปจับดินสอ ประสาทมือกับตาก็สัมพันธ์กัน ที่สำคัญคือทักษะการฟัง พูด อ่าน เขียนมันจะค่อยๆ มา นี่คือการพัฒนาการ และที่สำคัญคือมันส่งเสริมจินตนาการ ซึ่งตอนนี้ผู้ใหญ่ชอบไปตัดจินตนาการเด็ก แล้วเด็กก็จะไม่สร้างสรรค์ เด็กจะไม่คิด อันนี้เด็กได้คิดได้ทำอะไรหลายๆ อย่าง มันเป็นความภูมิใจที่เขาได้ทำเองและมีกิจกรรมทำร่วมกันระหว่างพ่อแม่ลูก”

แม้จะไม่ชื่นชมสื่อสำเร็จรูปเท่าใดนัก แต่อ.กุลวรามองว่าก็เป็นประโยชน์สำหรับครูที่อาจไม่มีเวลา แต่สำหรับสาขาวรรณกรรมสำหรับเด็ก มศว แล้ว นอกจากจะผลิตสื่อสร้างสรรค์สำหรับเด็กเองแล้ว ยังต้องเรียนศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเด็กและวรรณกรรมสำหรับเด็กทุกอย่าง ส่งผลให้นิสิตที่จบจากที่นี่ได้ไปทำงานในสาขาที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะนักจัดกิจกรรมสำหรับเด็ก ซึ่งยังขาดแคลนอยู่ในปัจจุบัน

ส่วนสื่อประเภทมัลติมีเดียนั้น อ.กุลวรามองว่าเป็นการสื่อสารทางเดียวจนเกินไป

“เด็กก็มีแต่รับๆๆๆ แล้วเท่าที่ดูบางครั้งคนผลิตเองก็อาจไม่ค่อยเข้าใจเด็ก และสื่อพวกนี้ทำให้ไม่ค่อยเกิดจินตนาการ เพราะคนอื่นคิดภาพคิดเสียงให้หมด ไม่มีโอกาสตอบสนอง เพราะฉะนั้น ถ้าจะใช้สื่อพวกนี้เด็กต้องมีฐานการอ่านที่มั่นคง มีอารมณ์ที่มั่นคง เพราะการสื่อสารมันต่างกัน มันก็ไม่ได้เลวทั้งหมด แต่มันก็ไม่ได้ดีมาก สู้อย่างไรก็ตามเอาสื่อหนังสือให้เด็กก่อนดีกว่า”

ก่อนจากกัน อ.กุลวราฝากท้ายถึงพ่อแม่ที่คิดจะเลือกสื่อสำหรับเด็กให้ลูกว่า

“ควรเตรียมฐานของเด็กให้มั่นคง ยังไงก็ตามเพลงกล่อมเด็ก นิทาน และภาพประกอบหนังสือเด็กที่ดีจะทำให้เด็กมีจินตนาการและอ่อนโยน พ่อแม่ควรวางแผนให้ดี ให้โอกาสเด็ก ถ้าเราสามารถพัฒนาเขาแต่เด็ก เขาจะเป็นคนที่มีคุณภาพในอนาคต ไม่สร้างปัญหาให้พ่อแม่ ครอบครัว และสังคม เป็นจุดละเอียดอ่อนต้องใช้เวลาและอดทน พ่อแม่ต้องวางรากฐานที่ดีให้เขา ที่ดีที่สุดคือความรัก ความอบอุ่น และกิจกรรมที่จะเสริมความรักความอบอุ่นก็คือการเล่านิทาน อ่านหนังสือ และสื่อสร้างสรรค์ ซึ่งก็คือการทำสื่อ ทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัวร่วมกับลูก”

  • สินค้าที่เกี่ยวข้อง
    คลิกดูรายละเอียด

  •  

    Top
    E-Mail

    Password


    Community
    Activity
    Photo Contest
    Bey Blade
    Cartoon 9
    Chat Room
    D-3
    D-Terminal
    D-Power
    Digimon
    Download
    Market Place
    Micro pet
    Quiz
    Can not select dB