Home Shop Mag'z Member Basket Thai / English Site Map
Webboard Book Toy Music Movie
Book
  >  home >  book >  หนังสือน่าอ่าน > 
    ศรีดาวเรือง กับคาราวานนิทานจากโลกตะวันตกโดย ผู้จัดการออนไลน์ 27 กันยายน 2548 18:55 น.

นิทานของฮันส์ฯ แปลโดยศรีดาวเรือง

หากเอ่ยชื่อนักเขียนหญิงของไทย ที่มีผลงานในแนววรรณกรรมสร้างสรรค์ ชื่อของศรีดาวเรือง (หรือนามจริง วรรณา สวัสดิ์ศรี) เป็นชื่อหนึ่งที่มักถูกกล่าวถึงเสมอ เพราะงานเขียนของเธอ ซึ่งเป็นเรื่องสั้นเสียส่วนใหญ่นั้น มักหยิบยกประเด็นปัญหาทางสังคมมากล่าวถึง โดยเฉพาะสถานะของผู้หญิง ทั้งที่สวมบทบาทเป็นทั้ง ‘แม่’ของลูก และ ‘เมีย’ของสามี

รวมทั้งเรื่องราวอำนาจอันไม่ชอบธรรมทางการเมืองในยุคสมัยหนึ่ง หรือความแปลกแยกแตกต่างทางชนชั้น ‘มัทรี’, ‘ชายผ้าเหลือง’ , ‘ดุจดั่งจะคายคืน’, ‘เพื่อนฉันยังไม่กลับจากในเมือง’ เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างเล็กน้อย จากเรื่องสั้นจำนวนนับร้อยเรื่องของศรีดาวเรือง ที่ถูกนำมาตีความอยู่บ่อยๆ

ในวาระที่มีผลงานเผยแพร่สู่สาธารณะชนเป็นเวลากว่า 3 ทศวรรษ (นับจากเรื่องสั้นเรื่องแรก ‘แก้วหยดเดียว’ ในปี 2518) นอกจากงาน 30 ปี ศรีดาวเรืองที่จะมีขึ้นในวันที่ 9 ตุลาคม 2548 ที่สถาบันปรีดีพนมยงค์แล้ว ศรีดาวเรืองยังมีผลงานต้อนรับวาระพิเศษของเธอเองด้วย นั่นคือ การเขียน อัตสารคดี ในชื่อ “สี่แผ่นดินอื่น” ซึ่งเป็นงานเขียนที่บอกเล่าเหตุการณ์และเรื่องราวของการเดินทาง ในช่วงที่ได้รับเชิญให้ไปเยือนยุโรปในฐานะผู้สร้างสรรค์งานวรรณกรรม

ผลงานสำคัญอีกอย่างของศรีดาวเรือง ที่เรียกความสนใจได้มากมายในวาระสำคัญนี้ เป็นงานที่แตกต่างไปจากทุกครั้ง เพราะเป็นงานแปลหนังสือนิทานชื่อดังที่มีคนรู้จักทั่วโลก นั่นก็คือการแปลนิทานของฮันซ์ คริสเตียนแอนเดอร์เซ่น เรื่องที่โด่งดังของเขาได้แก่ ‘หนูน้อยไม่ขีดไฟ(บ้างเรียกเด็กหญิงไม้ขีดไฟ)’ ‘ ลูกเป็ดขี้เหร่’ ‘พระราชากับฉลองพระองค์ชุดใหม่’ เป็นต้น นอกจากนั้น ศรีดาวเรืองยังแปลนิทานของ

สองพี่น้องตระกูลกริมม์ด้วย อาทิ เด็กชายนิ้วโป้ง

นิทานทุกเรื่องที่กล่าวมา ล้วนเคยถูกแปลและตีพิมพ์เผยแพร่มาอย่างยาวนาน เพราะนิทานทั้งของฮันส์ และพี่น้องกริมม์ เป็นเรื่องราวจากจินตนาการที่ครองใจเด็กๆและผู้ใหญ่ทั่วโลกมาทุกยุคทุกสมัย เมืองไทยเองก็เช่นกัน นิทานเหล่านี้เคยมีผู้นำมาแปลด้วยหลากหลายสำนวนภาษา ล้วนอ่านสนุกไม่แพ้กัน แต่เมื่อนิทานเรื่องดัง ถูกแปลโดยสำนวนของนักเขียนหญิงที่มีผลงานสะท้อนปัญหาสังคมเสมอมา ศรีดาวเรืองจะถ่ายทอดงานชุดนี้ออกมาอย่างไรบ้าง?

หลายคนที่ไม่ทราบประวัติความเป็นมาของเธออาจเห็นเป็นเรื่องธรรมดาที่นักเขียนมีผลงานมากมายกว่าร้อยชิ้นอย่างเธอ จะแปลนิทาน แต่สำหรับผู้ที่รู้จักศรีดาวเรืองแล้ว งานครั้งนี้มีความหมายต่อเธอไม่น้อย เพราะศรีดาวเรือง หรือ “แม่วรรณา” ของบรรดานักเขียนรุ่นลูก จบการศึกษาเพียงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เท่านั้น แต่ความพยายามและไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคใดๆ ในชีวิต รวมกับความมุ่งมั่นที่จะเป็นนักเขียนอย่างแรงกล้าทำให้เธอประสบความสำเร็จดังที่ตั้งใจไว้

งานแปลนี้จึงน่าจะเป็นอีกบทพิสูจน์ถึงความพยายามและตั้งใจจริงของศรีดาวเรือง

“แปลตามต้นฉบับที่เขาให้มา ต้องไม่ใส่ความรู้สึกของเรา หรือตีความอย่างที่เราเข้าใจ แต่ความรู้สึกอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นและใส่ลงไปด้วยก็คือ เหมือนความเป็นเด็กในตัวเรากลับมาอีกครั้ง อ่านไปแล้วก็สนุก ยิ้มไปด้วยขณะที่แปล”

นอกจากความสนุกของเนื้อเรื่องแล้ว เธอพูดถึงแง่คิดที่มองเห็นจากนิทานเหล่านี้ ว่า

“มีหลายฉบับที่คนไทยเคยแปลไว้ ส่วนตัวก็ความจำไม่ดีนัก จำไม่ได้แล้วว่ามีใครแปลบ้าง แต่ถ้าให้พูดถึงเรื่องที่ตัวเองแปลครั้งนี้ ก็รู้สึกว่าฝรั่งเขากล้าที่จะเขียนเรื่องที่สะเทือนอารมณ์ไว้ในวรรณกรรมเด็กๆ” ความจริงแล้วเธอชอบนิทานทุกเรื่องที่ได้แปลด้วยตัวเอง แต่เรื่องที่ชอบที่สุด คือ ‘เด็กหญิงไม้ขีดไฟ’

ศรีดาวเรืองพูดถึงนิทานเรื่องนี้ว่า “เขาวาดภาพประกอบสวยมากนะ แต่จริงๆ แล้ว เนื้อเรื่องเศร้ามาก ไม่ได้สวยงามอย่างภาพที่เห็น เด็กผู้หญิงคนนี้ไม่มีใครอยู่ข้างๆ เขานึกถึงแม่ นึกถึงยาย นึกถึงความอบอุ่น แต่ต้องอยู่ท่ามกลางความเหน็บหนาวจนขาดใจตาย เมืองไทยไม่มีนิทานหรือวรรณกรรมเด็กที่ตัวเอกเศร้ารันทดขนาดนี้ ไม่ค่อยบีบคั้นจิตใจถึงขนาดนี้”

ถึงแม้วรรณกรรมเยาวชนของต่างชาติในหลายๆ เรื่อง สอนให้เด็กรับรู้ถึงความสูญเสีย ขณะที่สำหรับคนไทยแล้ว วรรณกรรมส่วนมากจะจบอย่างมีความสุข แต่เธอก็แสดงความเห็นว่า

“ถึงอย่างไรก็เป็นเรื่องที่ดีเหมือนกันนะที่นิทานของไทยจบลงด้วยความสุข เพราะทำให้เด็กเขาได้อ่านเรื่องราวที่สวยงาม ถ้าจะอ่านเรื่องเศร้าๆ ก็หาอ่านจากงานแปลของต่างชาติได้”

นิทานเรื่องหนูน้อยนิ้วโป้ง แปลโดยศรีดาวเรือง

นอกจาก 'หนูน้อยไม้ขีดไฟ' แล้ว ศรีดาวเรืองได้กล่าวถึงข้อคิดที่แฝงไว้ในเรื่องอื่นๆ ด้วย

“ทุกเรื่องล้วนให้ข้อคิดสอนใจทั้งนั้น แต่ไม่รู้ว่าเด็กๆ เขาจะรับรู้ได้หรือเปล่า อย่างเช่นเรื่อง ‘เงือกน้อย’ ที่หางของตัวเอก ซึ่งก็คือเจ้าหญิงเงือกน้อยนั่นแหละ จะมีเปลือกหอยปักไว้เป็นเครื่องหมายบ่งบอกถึงความสูงศักดิ์ ทุกครั้งที่ถูกเปลือกหอยปัก เจ้าหญิงเงือกน้อยจะเจ็บปวดมาก บอกคุณย่า คุณยาย ว่า ไม่ไหวแล้ว ไม่เอาแล้ว แต่คุณย่าก็จะสอนว่า ถึงอย่างไรก็ต้องทน เป็นหน้าที่ที่คนเป็นเจ้าหญิงหรือผู้สูงศักดิ์ต้องอดทนไว้ให้ได้ แค่นี้ก็ทำให้ผู้ใหญ่อย่างเราสะท้อนใจ แต่เด็กๆ เขาอาจยังคิดไม่ถึงเท่าไหร่”

กล่าวถึงเรื่อง เจ้าหญิงกับเมล็ดถั่ว

“ส่วนเรื่องเจ้าหญิงกับเมล็ดถั่ว แม้ว่าเนื้อเรื่องจะสั้นมาก สั้นกว่าเรื่องอื่นๆ และอาจดูเป็นนิทานเบาๆ แต่ว่ามันก็ให้แง่คิดเยอะ เช่น ที่นอนที่เป็นฟูกซ้อนกันอยู่หลายสิบชั้น แค่เมล็ดถั่วที่ซ่อนไว้เพียงเมล็ดเดียว ทำไมเจ้าหญิงถึงรู้สึกได้”

“ถ้าเด็กๆ ได้อ่านเขาคงไม่คิดลึกซึ้งอะไรมากนัก อาจคิดเพียงว่า เพราะเป็นเจ้าหญิงจึงรู้ว่ามีเมล็ดถั่ว ใครไม่ได้เป็นเจ้าหญิงจะไม่มีทางรู้ ขณะที่เราผู้ใหญ่ได้อ่าน ก็จะคิดไปไกลกว่า ว่าสิ่งที่เขาแฝงไว้น่าจะมีอะไรมากกว่านั้น เช่น ต้องเป็นคนที่เยี่ยมยอดจริงๆ เท่านั้นถึงจะสัมผัสได้ถึงความผิดปกติเพียงเล็กน้อย แม้ความผิดปกตินั้นมีขนาดเท่าเมล็ดถั่วก็ตาม

ศรีดาวเรืองกล่าวถึงมุมมองของเธอว่า นิทานหรือวรรณกรรมต่างชาติมักแฝงข้อคิดให้ผู้ใหญ่ได้คิดตามด้วย ไม่ใช่มีเพียงความสนุกมอบให้เด็กๆ เท่านั้น นิทานที่โด่งดังอย่างเรื่อง ‘ฉลองพระองค์ชุดใหม่ของพระราชา’ก็เช่นกัน

“นิทานเรื่องนี้ พระราชาเปลือยกายก็ไม่มีใครกล้าทักท้วง ข้าราชบริพารเอาแต่เออออตามกัน แกล้งเพ็ดทูลว่าสวยงามอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะกลัวพระราชาจะทรงกริ้ว กระทั่งมีเด็กไร้เดียงสาคนหนึ่งมาบอกความจริงนั่นแหละ ถึงได้รู้ว่าข้าราชบริพารของตัวเองโกหก”

“เรื่องลูกข่างกับลูกบอลก็เหมือนกัน เด็กๆ เห็นแล้วอาจจะสนุกไปกับลูกข่างลูกบอลที่มีชีวิตจิตใจ ดูน่ารัก แต่ความจริงแล้วก็แฝงข้อคิดไว้นะว่า เมื่อครั้งหนึ่งคุณเคยเย่อหยิ่งมากเพียงใด ยามตกอับก็อาจไม่ได้รับความเห็นใจจากใคร แม้แต่คนที่เคยใกล้ชิดสนิทสนม”

30 ปี ของการเขียนหนังสือ ถึงวันนี้ เธออิ่มตัวกับหน้าที่นี้แล้วหรือยัง คำตอบคือ

“ถ้าถามว่าอิ่มตัวหรือพอใจแล้วหรือยัง ก็ยังตอบไม่ได้ แต่งานที่จะทำต่อจากนี้ คงไม่ได้มุ่งไปที่การเขียนเรื่องสั้นเพียงอย่างเดียว เพราะถ้าทำงานเพียงอย่างเดียวจะรู้สึกเบื่อ หลายคนอาจมองว่า เอ...แก่แล้วนะ ยังคิดจะมาแปลนิทานอีกเหรอ แต่สำหรับตัวเราแล้ว มันคือความสนุก”

“ คือความภูมิใจที่เราแปลได้ แม้ว่าสำหรับคนอื่นๆ แล้วอาจไม่ใช่เรื่องยากอะไรนัก แต่สำหรับเรา มีความสุขที่ได้เรียนรู้ อย่างตอนอ่านนิทานภาษาอังกฤษเหล่านี้จบจะดีใจมาก เพราะเราจบแค่ป.4 เท่านั้น แต่เราก็แปลได้จนจบ แม้จะต้องเปิดดิกฯด้วย แต่มันก็เป็นความสุขอย่างหนึ่ง ที่ทำให้เราได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ”

ศรีดาวเรืองมีความสุขกับงานแปลชุดนี้มากเพียงใด คุณพอจะสัมผัสความรู้สึกนั้นได้ไหม? หนทางหนึ่งที่จะรับรู้ร่วมกัน นั่นคือ รับรู้ผ่านเส้นทางของกองคาราวานเหล่านี้ ที่มีผู้นำขบวนชื่อ ‘เด็กหญิงไม้ขีดไฟ’

  • สินค้าที่เกี่ยวข้อง
    คลิกดูรายละเอียด

  •  

    Top
    E-Mail

    Password


    Community
    Activity
    Photo Contest
    Bey Blade
    Cartoon 9
    Chat Room
    D-3
    D-Terminal
    D-Power
    Digimon
    Download
    Market Place
    Micro pet
    Quiz
    Can not select dB