Home Shop Mag'z Member Basket Thai / English Site Map
Webboard Book Toy Music Movie
Book
  >  home >  book >  หนังสือน่าอ่าน > 
    โมโม่
คนส่งนม
โมโม่
ชลิต ดุรงค์พันธุ์

อย่างที่กล่าวไว้ครั้งก่อน งานเขียนของ มิชาเอ็ล เอ็นเด้ มีแนวโน้มที่จะมุ่งสั่งสอนทางด้านศีลธรรมอยู่ไม่น้อย อย่างในวรรณกรรมชิ้นเอกของเขาเรื่อง "โมโม่" ชื่อเรื่องเองก็บ่งบอกความตั้งใจของผู้เขียนที่จะสั่งสอนเรื่องศีลธรรมอยู่แล้ว เพราะ "โมโม่" นั้นมีชื่อเรื่องเต็มๆ ว่า "โมโม่ หรือ เรื่องราวอันแปลกประหลาดของพวกโจรที่ขโมยเวลาไปจากมนุษย์กับเด็กคนหนึ่งที่นำเวลานั้นกลับคืนมา"

โมโม่คือชื่อของเด็กหญิงอายุราวสิบขวบคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในชุมชนเล็กๆ อันแสนสงบเงียบ ไม่มีใครรู้ว่าโมโม่มีความเป็นมาอย่างไร เด็กหญิงตัวเล็กๆ เนื้อตัวมอมแมมคนนี้มีความสามารถพิเศษคือ มีเวลามากมาย และสามารถรับฟังเรื่องราวต่างๆ ที่คนอื่นเล่าได้อย่างไม่รู้เหนื่อยหน่าย ผู้คนจึงมักชอบมาหาเธอและรู้สึกดีขึ้นเมื่อได้เล่าปัญหาต่างๆ ให้เธอฟัง ชีวิตของคนที่นั่นดำเนินมาอย่างราบรื่น

กระทั่งวันหนึ่งความสุขสงบนี้ถูกรบกวนจากผู้ชายสีเทาซึ่งเป็นตัวแทนของธนาคารเวลา ผู้ชายสีเทาพวกนี้ได้ออกมาหว่านล้อมให้ผู้คน (ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้ใหญ่) เอาเวลาของตัวเองมาฝากเอาไว้กับธนาคารดังกล่าว พวกเขาประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี มีผู้คนสนใจเอาเวลามาฝากมากมาย แต่ยิ่งฝากเวลามากเท่าไร ชีวิตของพวกที่เอาเวลามาฝากก็ดูเหมือนจะรีบเร่งไร้น้ำใจมากขึ้นเท่านั้น ความน่าสะพรึงกลัวเกิดขึ้นเมื่อดอกไม้เวลาที่แต่ละคนได้รับมากำลังจะผสมกับเวลาที่ตายแล้วของผู้ชายสีเทาพวกนั้น คนที่เวลาของตัวเองถูกผู้ชายสีเทาขโมยไปจะป่วยไข้อย่างหนัก

เอ็นเด้เปรียบเปรยสภาพดังกล่าวกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้คนในสังคมปัจจุบันที่ไม่รู้สึกยินดียินร้ายกับสิ่งใด วันๆ เอาแต่ซึมเศร้าและใช้ชีวิตอย่างไร้จุดหมาย โมโม่ได้เข้าขัดขวางการทำงานของโจรปล้นเวลาเหล่านั้นโดยได้รับการช่วยเหลือจากท่านโฮร่าผู้ดูแลบ้านของเวลา และเต่าวิเศษคาสิโอเปีย และในที่สุดเธอก็สามารถนำเวลาที่ถูกขโมยไปกลับมาให้มนุษย์ได้ดังเดิม

ดูในแง่ประวัติศาสตร์แล้วก็ไม่น่าจะใช่เรื่องแปลกที่หนังสืออย่าง โมโม่ ได้กลายเป็นคัมภีร์เล่มหนึ่งของหนุ่มสาวเยอรมันและอีกหลายๆ ประเทศในยุคแสวงหาเมื่อกว่าสามสิบปีก่อน เพราะหนังสือเล่มนี้ได้วิพากษ์ผลพวงของการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศตะวันตกอย่างรวดเร็วหลังสงครามโลกครั้งที่สองเอาไว้อย่างแหลมคม หนุ่มสาวในประเทศตะวันตกช่วงนั้นเริ่มตั้งคำถามต่อคุณค่าที่ตกทอดมาจากคนรุ่นพ่อแม่ที่เชื่อว่าเศรษฐกิจและเทคโนโลยีต่างๆ จะก้าวหน้าไปเรื่อยๆ ไม่มีวันสิ้นสุด และความก้าวหน้าเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ดี ในแง่นี้

การต่อสู้ระหว่างโมโม่กับพวกผู้ชายสีเทาจึงเปรียบได้กับการปะทะของความคิดสองกระแส คือ ระหว่างความเชื่อที่ว่า "เวลาเป็นเงินเป็นทอง" และ ความเชื่อที่ว่า "เวลาคือชีวิต" โมโม่คือ ภาพของคนในอุดมคติทิ่ไม่ผูกตัวเองกับเรื่องอะไร เป็นคนที่มีชีวิตอย่างเรียบง่าย ในทางตรงกันข้ามผู้ชายสีเทาเป็นตัวแทนของคนที่มองเวลาว่าเป็นเงื่อนไขในการแสวงหาประโยชน์

เอ็นเด้พูดถึงตัวละครเอกในเรื่องนี้ว่า "สำหรับผมแล้ว โมโม่ คือตัวแทนของรูปแบบการดำเนินชีวิต เป็นภาพของมนุษย์จำพวกหนึ่ง เป็นตัวเอกที่ไม่มีคุณสมบัติของตัวเอก ... เป็นมนุษย์ที่ใสสะอาด (เหมือนเด็ก) และกลายเป็นตัวเอกด้วยการดำรงอยู่ของตัวเอง ... ผมคิดว่า ถ้าโลกนี้ไม่มีวีรบุรุษหรือรูปแบบของมนุษย์ในอุดมคติก็คงไม่มีตำนาน (mythology) และถ้าไม่มีตำนานวัฒนธรรมของมนุษย์ก็ย่อมไม่อาจดำรงอยู่ได้" ภาพของผู้ชายสีเทาทำให้นึกถึงโลกแห่งการค้า และนักธุรกิจที่หอบหิ้วกระเป๋าเอกสารหนาเตอะไปทุกที่ "พวกเขาไม่ใช่มนุษย์ เพียงแต่มีร่างของมนุษย์เท่านั้น ... ตามความเป็นจริงแล้วพวกเขาไม่ได้เป็นอะไรสักอย่าง... พวกเขากำเนิดขึ้นเพราะมนุษย์เปิดโอกาสให้ ... แค่นั้นก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้พวกเขามีอำนาจขึ้นมาได้" (หน้า 181 ฉบับภาษาไทย)

ผู้ชายสีเทาจึงเป็นตัวแทนของความไม่รู้จักพอ เปรียบเหมือนอำนาจ (หรือความอ่อนแอในตัวของมนุษย์เอง?) ที่สามารถเปลี่ยนแปลงมนุษย์และวิถีชีวิตของพวกเขาได้อย่างรุนแรง ส่วนท่านโฮร่านั้นเป็นตัวแทนของอำนาจที่อยู่เหนือความเข้าใจของมนุษย์ (metaphysical power) เขาคือ ผู้รู้แจ้งและคอยให้ความช่วยเหลือแก่โมโม่จนเธอสามารถเอาชนะผู้ชายสีเทาได้ในที่สุด

ในเรื่อง "โมโม่" นี้ดูเหมือนเอ็นเด้ต้องการจะเตือนมนุษย์ให้ระวังอันตรายของการดำรงชีวิตด้วยหัวใจที่ร้อนรนไม่รู้จักเพียงพอ โดยเฉพาะพวกผู้ใหญ่ที่ไม่ค่อยมีเวลาให้เด็ก เวลาของคนนั้นได้รับมาเพียงจำกัด เวลาคือ ชีวิตของเรา แม้เอ็นเด้จะเขียนเรื่องนี้เอาไว้ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2516 แต่ประเด็นที่ถูกนำเสนอยังคงเป็นเรื่องที่ทันสมัยและดูจะเหมาะกับสภาพในสังคมปัจจุบันมากกว่าเมื่อ 30 ปีก่อนเสียอีก เรากำลังถูกคุกคามจากผู้ชายสีเทาหรือโจรขโมยเวลาที่ซุกซ่อนอยู่ในตัวเราเอง

และคงจะมีแต่ตัวเราเองเท่านั้นที่จะเป็นคนเอาชนะโจรขโมยเวลาเหล่านี้ได้

แหล่งที่มา : จุดประกายวรรณกรรม, หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ;
ฉบับที่ 4972 ; วันอาทิตย์ที่ 28 เมษายน 2545 ;
จากคอลัมคนส่งนม ; โดยคุณชลิต ดุรงค์พันธุ์ : chalit.durongphan@mailcity.com

  • สินค้าที่เกี่ยวข้องกับ หนังสือโมโม่( คลิกเพื่อดูข้อมูลเพิ่มเติมและสั่งซื้อ )

  •  

    Top
    E-Mail

    Password


    Community
    Activity
    Photo Contest
    Bey Blade
    Cartoon 9
    Chat Room
    D-3
    D-Terminal
    D-Power
    Digimon
    Download
    Market Place
    Micro pet
    Quiz
    Can not select dB