วรรณกรรมเยาวชน = วรรณกรรม?
เวลาเดินอยู่ในร้านหนังสือแล้วเห็นป้ายที่เขาติดเอาไว้เพื่อแบ่งหรือบอกว่าเขตนี้เขตนั้นเป็นที่ตั้งวางหนังสือประเภทหนึ่งที่เรียกขานกันว่า "วรรณกรรมเยาวชน" ผมมักอดนึกไม่ได้ว่า ไอ้คนที่คิดชื่อนี้ขึ้นมามันคงจะหัวใสอยู่ไม่น้อย
หรืออย่างน้อยก็น่าจะเป็นคนที่มีหัวทางการตลาดอยู่พอสมควร จริงๆ นะครับ ผมเชื่อของผมว่า ไอ้คำว่า "วรรณกรรมเด็ก" หรือ "วรรณกรรมเยาวชน" เป็นอะไรที่เกี่ยวข้องกับการตลาดมากกว่าศิลปะ จะว่าไปก็คงเหมือนกับการจัดแบ่งประเภทอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น "วรรณกรรมเพื่อชีวิต" หรือ "วรรณกรรมทดลอง" ที่ถึงที่สุดแล้วก็ยากจะหานิยามตายตัว เพียงแต่บอกได้เลาๆ ว่า น่าจะเป็นเช่นนั้นหรือไม่ก็เช่นนี้ ก่อนที่ท้ายสุด จะต้องตบด้วยประโยคที่ว่า "แต่ทุกอย่างก็มีข้อยกเว้นของมัน"
เมื่อตั้งใจจะเขียนถึงสิ่งประดิษฐ์ที่เรียกกันว่า "วรรณกรรมเยาวชน" ผมเองก็คงไม่สามารถหลุดจากตรรกะการนิยามแบบที่ว่าไปได้
เรื่องหนึ่งที่พอจะพูดได้อย่างเต็มปากก็คือ สำหรับประเทศไทยเรานั้น "วรรณกรรมเยาวชน" อย่างที่เห็นและเป็นอยู่นั้นเป็นสินค้านำเข้า เช่นเดียวกับวรรณกรรมอีกหลากหลายแขนง ไม่ว่าจะเป็น "เรื่องสั้น" หรือ "บทละคร" ดังนั้น หากอยากรู้ว่าวรรณกรรมสำหรับเด็กและเยาวชนมีที่มาที่ไปอย่างไร ก็คงไม่มีทางอื่นนอกจากจะต้องกลับไปดูที่แหล่งกำเนิดของมัน
ในยุโรปอันเป็นแหล่งกำเนิดของวรรณกรรมแขนงนี้นั้น เป็นที่ยอมรับกันว่าวรรณกรรมเด็กหรือวรรณกรรมเยาวชนเป็นผลผลิตของยุคแสงสว่างแห่งปัญญาที่เรียกกันเป็นภาษาฝรั่งว่า Enlightenment อันหมายถึงช่วงเวลาระหว่างคริสตศตวรรษที่ 17-18 ท่านผู้อ่านหลายท่านคงจะเคยได้ยินชื่อเสียงเรียงนามของ เอ็มมานูเอ็ล คานท (Immanuel Kant) นักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ชาวเยอรมันกันมาบ้าง
ก็คานทนี่แหละครับที่เป็นคนปูทางยุคแสงสว่างแห่งปัญญา โดยการเรียกร้องให้มนุษย์กล้าที่จะคิดด้วยตัวเองและกล้าที่จะมีความคิดเป็นของตัวเอง ในเรื่องที่ว่าข้อเรียกร้องอันขึงขังของนักคิดท่านนี้ส่งผลต่อแวดวงวรรณกรรมโดยรวมเช่นไรนั้น ผมจะไม่ขอพูดถึงในที่นี้ ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความเป็นมาของวรรณกรรมเยาวชนก็คือว่า ข้อเรียกร้องของคานทนี่เองที่เป็นจุดก่อเกิดหนังสือประเภทหนึ่งที่เขียนขึ้นโดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ เด็กและเยาวชน เพราะกลุ่มคนที่รับเอาอุดมคติทางปัญญาของคานทมาอย่างเต็มที่ก็คือ เหล่านักการศึกษาในยุคนั้น คนพวกนี้เชื่อว่าการจะสั่งสอนให้คนสักคนเป็นคนดีได้นั้นจำเป็นที่จะต้องพัฒนาปัญญาของคนๆ นั้นเสียก่อน เพราะปัญญาเป็นเงื่อนไขอย่างแรกที่ทำให้คนสามารถมีความคิดเป็นของตัวเองได้ และไม่ใช่เรื่องแปลกนักที่นักการศึกษาเหล่านั้นฝากความหวังเอาไว้กับเด็กและเยาวชน
ด้วยเหตุนี้ ในตอนต้นศตวรรษที่ 18 จึงมีการออกกฎหมายให้มีการศึกษาภาคบังคับกันเป็นครั้งแรกในหลายๆ ประเทศในยุโรป และช่วงเวลาเดียวกันนี้เองก็เริ่มมีการตีพิมพ์หนังสือที่เขียนขึ้นสำหรับเด็กและเยาวชนโดยเฉพาะออกมา ไม่ใช่เฉพาะแต่ตำราเรียนทางวิชาการ แต่จำนวนไม่น้อยเป็นเรื่องเล่าหรือนิทานสนุกสนานที่สอดแทรกคติสอนใจเรื่องต่างๆ
เนื่องจากอุดมคติที่อยู่เบื้องหลังหนังสือเหล่านี้คือ การสอนสั่ง หนังสือแนวบันเทิงสำหรับเด็กและเยาวชนแบบที่ว่าจึงแตกต่างจากหนังสือวรรณกรรมทั่วไป (ซึ่งบางคนอาจจะเรียกว่า "วรรณกรรมสำหรับผู้ใหญ่") อยู่โดยพื้นฐาน เพราะประเด็นที่จะสั่งสอนจำเป็นที่จะต้องมาก่อน "สุนทรียภาพ" และนี่เองคือปัญหาหลักของวรรณกรรมสำหรับเด็กและเยาวชนที่เรื้อรังมาจนถึงทุกวันนี้ ใครที่ชอบอ่านงานเขียนที่ได้รับการตีตราว่าเป็นงานวรรณกรรมสำหรับเด็กและเยาวชนแล้วคงพอจะเข้าใจว่าปัญหาที่ผมพูดถึงอยู่นี้คืออะไร ตามความคิดของผมแล้วหนังสือวรรณกรรมเยาวชนจำนวนไม่น้อย มุ่งสั่งสอนมากเกินไปจนแทบจะไม่เหลือที่ทางให้ความงามทางศิลปะ
ขณะเดียวกัน ก็ต้องบอกว่า ไม่ใช่ว่า "การสอนสั่ง" กับ "ศิลปะ" จะเป็นสิ่งที่ไม่มีวันเข้ากันได้ การประสานสองสิ่งนี้เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ หนังสือวรรณกรรมสำหรับเด็กและเยาวชน "ดีๆ" จำนวนไม่น้อยคือบทพิสูจน์ความจริงข้อนี้ ปัญหาก็คือ การประสานสองสิ่งนี้ให้กลมกลืนโดยตัวของมันเองก็เป็น "ศิลปะ" อย่างหนึ่งเช่นกัน
และมีแต่นักเขียนที่ให้ค่ากับศิลปะเพียงพอเท่านั้น ที่จะสามารถกระทำเรื่องเช่นนี้ได้...
แหล่งที่มา : คอลัมคนส่งนมจากโลกตะวันตก, จุดประกายวรรณกรรม, กรุงเทพธุรกิจ, วันอาทิตย์ที่ 1 กันยายน 2545
|