แรงงานบ้านนอก สองขาก้าวย่างเท้าเข้าเมืองหลวง ทิ้งความห่วงห้วงจนเพื่อขวนขวาย
ปณิธานสานสั่งพลังกาย ค้นความหมายใช้ความหวังประทังตน แลเหลียวหลังยังมีหนี้ท่วมหัว รุมเร้าตัวกลัวการงานสับสน ด้วยแน่วแน่แพ้บ่ได้ในความจน เกิดเป็นคนตนไม่พ่ายในชะตา แม่กูรอพ่อกูคอยถอยมิได้ ยืนหยัดไว้ในตนต้องค้นหา ความแห้งแล้งแห่งนี้ที่ท้องนา คอยเวลาฟ้าส่งลงปักดำ สองมือกร้านงานหนักก็จักสู้ เพื่อแม่กูกู้นาอย่าถลำ เสียงสอนสั่งยังก้องประคองนำ หยาดน้ำคำย้ำเตือนเหมือนเพื่อนตาย สายลมแผ่วแว่วกายคล้ายมือแม่ อ่อนโยนแท้แก่ฉันสัมพันธ์หมาย ดังหนึ่งซึ้งพึงพ้องร้องผ่านกาย กอดลูกชายใกล้อกพ่อพออุ่นไอ หากลมนี้ที่พัดลัดถึงทุ่ง สู่ขอบคุ้งยุ้งฉางกลางท้องไร่ ฝากไถ่ถามถ้อยความยามทุกข์ใจ กินอย่างไรอยู่อย่างไรให้ข่าวมา น้ำตาเอ่อละเมอเพ้อพร่ำบ่น มืดมัวม่นฝนโปรยยิ่งโหยหา ตายังมองจ้างยังทางย่างคืนนา ทุกเวลาพาพะวงส่งใจคืน เงินเดือนออกนอกเหนือที่เหลือเก็บ ยามป่วยเจ็บเล็บช้ำระกำฝืน ค่าหยูกยาอาหารเมื่อวานซืน แค่ครึ่งหมื่นคืนไว้ให้เป็นทุน ลูกกินข้าวเคล้าน้ำตาห่วงหาแม่ ฝ่ากระแสเงินทองต้องเกื้อหนุน ออกพรรษาโอกาสหน้ามาแทนคุณ เทิดใบบุญบุพการีที่เฝ้ารอ มีเงินใช้ไถ่นามาหาท่าน ก้มกราบกรานลางานวันนี้หนอ คืนอ้อมอกอีสานดินแดนพ่อ หยาดเหงื่อพอส่อค่าว่าเป็น "คน"... ฯลฯ
คนใช้แรงงานจะใช้โอกาสเทศกาลต่างๆ กลับบ้านเยี่ยมบ้าน
แหล่งที่มา : คอลัมโรงเรียนนักเขียนน้อย โดยนายอนุวัฒน์ แก้วลอย ชั้น ม.5 ร.ร.สุรวิทยาคาร จ.สุรินทร์ , จุกประกายวรรณกรรม, กรุงเทพธุรกิจ, วันอาทิตย์ที่ 22 กันยายน 2545
|