Home Shop Mag'z Member Basket Thai / English Site Map
Webboard Book Toy Music Movie
Book
  >  home >  book >  บทความ > 
    บทสรุปวรรณกรรมรอบโลกปี 2002
บทสรุปวรรณกรรมรอบโลกปี 2002
วีระยศ สำราญสุขทิวาเวทย์

อีกไม่กี่วัน เวลาหนึ่งปีก็จะผ่านไปอย่างรวดเร็ว
คนอายุมากขึ้นย่อมทราบดีว่ามันเร็วแค่ไหน นักอ่านที่ขยันนอนอ่านหนังสือมนต์วิเศษและเทพวงแหวนเล่มหนาๆ จบเล่มแล้วเล่มเล่า ก็ย่อมจะพบว่าหนึ่งปีมันเร็วจริงๆ และเริ่มประสบปัญหาอ่านไม่ค่อยทันใจ กำลังสนุกเลย จบซะแล้ว ส่วนนักเขียนที่กำลังก้มหน้าก้มตาเขียนหนังสือเพื่อจัดสรรค่าต้นฉบับสำหรับแจกจ่ายค่าครองชีพต่อส่วนต่างๆ ก็อยากจะให้หนึ่งปีมียี่สิบสี่เดือน และวันหนึ่งมีสี่สิบแปดชั่วโมง สำหรับโลกวรรณกรรม ความเปลี่ยนแปลงอาจจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ ตามวันเวลาที่ผ่านไปอย่างรวดเร็ว ดังปรากฏจากสรุปข่าวนับจากนี้

- นักเขียนรางวัลโนเบลชาวสเปนลาโลก
ขอเริ่มต้นด้วยความตายอันยิ่งใหญ่ของนักเขียนรางวัลโนเบลปี 1989 ฆามีโล โฆเซ่ เซล่า แห่งสเปน เขาจากโลกวรรณกรรมด้วยอายุ 85 ปี เซล่าเป็นผู้สร้างผลงานโศกนาฏกรรมชิ้นสำคัญ อย่าง The Family of Pascual Duarte(1948) เรื่องราวของครอบครัวหนึ่งในชนบท และ The Hive (1953) โศกนาฏกรรมของคนสามร้อยกว่าชีวิตในเมืองหลังสงครามกลางเมือง ผลงานของเซล่ามักจะสะท้อนความรัก ความเมตตา ด้วยน้ำเสียงโกรธแค้น รุนแรงและเกรี้ยวกราด ซึ่งเป็นแบบฉบับการเขียนเฉพาะของวรรณกรรมสเปน เซล่าจากโลกกลมๆ ด้วยการทิ้งวาทะเจ็บๆ แสบๆ ว่า ถ้าเขาตายจงเขียนบนป้ายหลุมศพให้ด้วยว่า คนที่นอนในหลุมนี้เคยเป็นเพื่อนบ้านที่มักจะสร้างความเดือดเนื้อร้อนใจให้ท่านทุกวี่วัน

17 มกราคม
- ฉลองครบรอบ 80 ปี นวนิยายชิ้นเยี่ยมของศตวรรษ 20
เป็นธรรมดาของสิ่งสำคัญเมื่อมีเวลาครบรอบก็ต้องเฉลิมฉลองกัน คราวนี้เป็นงานสมโภชนวนิยายที่มีอายุบนโลกมาแล้ว 80 ปี นวนิยายที่ว่านั้นชื่อ Ulysses ของ James Joyce ในฐานะที่สร้างความยิ่งใหญ่เหนือนวนิยายใหญ่น้อยทุกเล่มของศตวรรษ 20 ขณะเดียวกันงานฉลองวันเกิดครบ 80 ปี ของ ริชาร์ด ฮามินตัน (Richard Hamilton) บิดาแห่งศิลปะแนวป๊อปของอังกฤษ ก็เปิดเผยผลงานเขียนสะสมมาตลอดชีวิต ซึ่งเป็นวาดภาพประกอบการดำเนินชีวิตทั้งกลางวันและกลางคืนภายในเมืองดับลิน แน่นอนผลงานเหล่านี้เขียนขึ้นด้วยแรงบันดาลใจจากเนื้อเรื่องของ Ulysses ฮามินตันเริ่มลงมือวาดผลงานชุดนี้ตั้งแต่ปี 1947 และเมื่อสิ้นสุดผลงาน ภาพของเขายุคหลังๆ วาดด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ ตามยุคสมัย

1 กุมภาพันธ์
- สมุดบันทึกสำหรับชาวเนวานา
สมุดบันทึกความคิดอันสับสนระหว่างช่วงสุดท้ายในชีวิตของ เคิร์ท โคเบ็น (Kurt Cobain) อดีตนักร้องนำแห่งวงเนวานา (Nirvana) ผู้จบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย จะถูกจัดพิมพ์ออกมาในปีหน้าอย่างแน่นอน สมุดบันทึกเล่มนี้จะเป็นการนำเสนอด้วยเนื้อหาเขียนอย่างตรงๆ แรงๆ ถึงปัญหาทางการเงิน ชื่อเสียง และยาเสพติด อันเป็นภาวะความกดดันของนักดนตรีแห่งยุค ด้วยเนื้อหาจากต้นฉบับ 800 กว่าหน้าที่เขียนด้วยลายมือหวัดๆ และกินเวลานานนับสิบปี เช่นเดียวกับที่เวลาล่วงเลยมาเกือบสิบปีแล้ว ที่แฟนเพลงของเขายังสับสนกันว่านักร้องแห่งยุคสุดโปรดของตนตายด้วยปัญหาประการใด สมุดบันทึกเล่มนี้อาจจะทำให้พวกเขาร้องอ๋อกันอย่างเข้าใจ

28 กุมภาพันธ์
- นักเขียนกับศาล
ศาลยุติธรรมของตุรกีเลื่อนนัดการพิจารณาความผิดในฐานะจัดพิมพ์หนังสือที่เป็นอันตรายกับสาธารณชน เมอฮ์เม็ด อูซูน (Mehmed Uzun) นักเขียนตุรกีวัย 47 ปี โดยศาลพยายามทำหนังสือเรียกร้องให้ทางการของสวีเดน ส่งตัวนักเขียนอันตรายกลับมาพิจารณาตามความผิด แต่อูซูน นักเขียนผลงานต้องห้าม ยืนกรานที่จะปฏิเสธเดินทางกลับมาเข้าคอกของทางการ เพื่อฟังข้อกล่าวหาสิ่งที่เขาเองแย้งว่าทำเพื่ออิสรภาพทางความคิดของชาวเคอร์ดีซ เขายืนยันที่จะเฝ้าคอยคำตอบนอกประเทศดีกว่า แล้วผลงานต้องห้ามของเขาก็กลายเป็นหนังสือขายดีเรียบร้อยแล้ว แม้ว่าอูซูนจะลี้ภัยไปอยู่ที่สวีเดนตั้งแต่ปี 1978 แต่ในปี 2000 เขาก็แอบกลับเข้าประเทศบ้านเกิดเพื่อสังเกตภาวะสภาพบ้านเมือง และนั่นเองอาจจะเป็นชนวนที่ทางการต้องการตัวนักเขียนที่หักหน้าระบบการตรวจตราอันเคร่งครัด

8 มีนาคม
- ซัลมาน รัชดีย์ ครวญ
นักเขียนแห่งยุคยังคงถูกเรียกร้องให้ถูกประหารเหมือนเดิม ก็คือ ซัลมาน รัชดีย์ ซึ่งเขาครวญว่า นักหนังสือพิมพ์ Hatchet ต้องการความตายของเขา รัชดีย์กล่าวว่า พวกนั้นอิจฉาตาร้อนตัวเขาที่ได้รับการช่วยเหลือจาก Fatwa องค์กรอิสลามของอิหร่าน ซึ่งเคยประกาศคำตัดสินประหารเขา และในที่สุดก็ประกาศอภัยโทษให้ โดยเปิดโอกาสให้เขามีชีวิตอยู่อย่างปลอดภัยและมีชีวิตใหม่แสนสุขสบาย แต่ความจริงสภาพชีวิต เขายังทนทุกข์ทรมานอยู่เหมือนเดิม ใครจะเชื่อว่าคนที่หมายหัวเขาจะเลิกราโดยง่าย รัชดีย์ยังต้องการตำรวจอารักขาอย่างเคร่งเครียด ทำให้รายรับทางการเขียนของเขาเพิ่มค่าใช้จ่ายอย่างสาหัส ทั้งค่าอารักขาต่างๆ และยังมีรายจ่ายภาษีอันสาหัส โดยตลอดเก้าปีในการถูกพิพากษาจากผลงานเขียนอันตราย เขาต้องอาศัยอยู่ในเซฟเฮ้าส์เกือบ 30 แห่ง ซึ่งนั่นเป็นเหตุที่ทำให้เขาต้องหาบ้านและหาที่จ่ายค่าภาษีถูกลง และแม้ว่ารัชดีย์จะมีบ้านพักอยู่ในนิวยอร์กแล้ว แต่รัชดีย์ก็ยังฝันว่าเขายังอยากจะมีบ้านสักหลังหนึ่งซึ่งตัวเองอาศัยทำงานเขียนอย่างสบายใจจนถึงอายุ 80

26 มีนาคม
- ปัญหาลึกลับของวรรณกรรมคลาสสิก
ด้วยหลักการคณิตศาสตร์ประยุกต์ สถิติ และคอมพิวเตอร์ วิเคราะห์ต่ออดีตกาลของบทกวี กรีกและละติน ทำให้ทีมนักค้นคว้ากลุ่มหนึ่งอาจจะบ่งบอกความลับเกี่ยวกับ โฮเมอร์ (Homer) ผู้เขียนสองมหากาพย์ Illiad และ Odyssey จากข้อถกเถียงที่ว่าตัวจริงของโฮเมอร์เป็นใครกันแน่ ด้วยฝีมือของ Ricardo Mansilla ศาตราจารย์ทางคณิตศาสตร์ และ Edward Bush ศาสตราจารย์ทางภาษาศาสตร์ แห่ง National Autonomous University ของ Mexico โดยการสรรหาผลสรุปการศึกษากลุ่มสถิติการใช้พยางค์ สั้น ยาว ในผลงานเปรียบเทียบกับผลงานต่างๆ ของบรรดานักเขียนทั้งของกรีกและละติน

1 เมษายน
- นักเขียนอินเดียพบเหตุเหยียดผิวในฮ่องกง
อามิต โชติธุรี (Amit Chaudhuri) นักเขียนอินเดียเจ้าของรางวัล Commonwealth Writers Prize ของอังกฤษ ถูกเจ้าหน้าที่ทางการของฮ่องกงตั้งข้อหาว่าเป็นผู้ลักลอบอพยพเข้าเมืองระหว่างเดินทางมาร่วมงานเทศกาลทางวรรณกรรมในเกาะฮ่องกง ทันทีที่เขาเดินทางมาถึง เจ้าหน้าที่กองตรวจคนเข้าเมืองจัดการกักตัวทันที ระหว่างการกักตัว เจ้าหน้าที่แสดงอาการเหยียดหยาม ตั้งท่ารังเกียจ กล่าวหาว่าเขาป็นพวกอพยพ ปลอมหนังสือเดินทาง รวมทั้งตั้งข้อกล่าวหาต่างๆ สำหรับการเดินทางมาเกาะฮ่องกงครั้งนี้ เขาได้ทราบภายหลังจากผู้แทนฝ่ายรัฐบาลของอินเดียว่า ในการประชุมของทางราชการมีหัวข้อการประชุมที่ทางฮ่องกงสนใจก็คือ เรื่องการเหยียดผิวเอเชียกับเอเชียด้วย อามิต โชติธุรี เป็นนักเขียนระดับนานาชาติของอินเดีย ผลงานนวนิยายของเขาเป็นเรื่องของการร้องเพลงเพื่ออิสรภาพและโลกใหม่ นอกจากผลงานนวนิยายแล้ว เขายังเขียนบทความลงประจำใน the New Yorker อีกด้วย ซึ่งบทความจากเหตุการณ์นี้ ชาวฮ่องกงอาจจะติดตามอ่านได้จากนิตยสารฉบับดังกล่าว

19 เมษายน
- นักเขียนบทละครแห่งทศวรรษ 60 เสียชีวิต
ข่าวอาลัยชิ้นนี้อาจจะเหมาะสำหรับนักอ่านอายุ 50 กว่าๆ เมื่อ เรจีนัล โรส (Reginald Rose) เจ้าของบทละครคลาสสิกยุคทศวรรษ 60 อย่าง Twelve Angry Men เสียชีวิตอย่างสงบด้วยวัย 81 โรสเป็นนักเขียนบทละครโทรทัศน์ชั้นนำของอเมริกาในทศวรรษ 50 ชื่อเสียงของโรสโด่งดังขั้นสุดๆ เมื่อ Twelve Angry Men ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์โดยผู้กำกับหนังคลาสสิก ซิดนีย์ ลูเม็ท (Sidney Lumet) ในปี 1957 โดยมีดาราเอก เฮนรี ฟอนดา (Henry Fonda) เป็นดารานำ และโรสถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ในฐานะผู้เขียนบทหนังเรื่องนี้ นอกจากนั้นโรสยังเคยรับรางวัล Emmy award ในปี 1954 นอกจากผลงานทางด้านโทรทัศน์และภาพยนตร์แล้ว โรสยังมีงานกิจกรรมทางการเมืองมาเป็นเวลานานก่อนจะเสียชีวิต

22 เมษายน
- วรรณกรรมยอดเยี่ยมที่สุดของโลก
นักเขียนชั้นนำของโลก อย่าง ซัลมาน รัชดีย์, นอร์แมน เมลเลอร์ มิลาน คุนเดอร่า และ นาร์ดีน กอร์ดเมอร์ ตกลงใจยกย่องวรรณกรรมสเปนแห่งศตวรรษ 17 ดอน กีโฆเต้ (Don Quixote) ให้เป็นผลงานชิ้นเยี่ยมตลอดกาลของโลก ส่วน มิเกล เดอ เซอวานเตซ (Miguel de Cervantes) รับคะแนนนักเขียนในดวงใจของนักเขียนกว่า 50% เหนือ เชคสเปียร์, ตอลสตอย, และ ดอสโตเยฟสกี้ สำหรับผลการสำรวจครั้งนี้ จัดทำขึ้นโดยองค์กรสำรวจความนิยมของสถาบันโนเบลนอร์วีเจียน โดยส่งแบบสอบถามไปยังนักเขียนชั้นนำของโลกในปัจจุบัน เพื่อสอบถามผลงานนวนิยาย เรื่องสั้น บทกวี และบทละคร สำหรับทัศนะของพวกเขาที่คิดว่าเป็นงานชิ้นเยี่ยมจำนวน 10 เรื่อง จากนักเขียน 100 คน โดยรายชื่อปรากฏออกมาจากนักเขียนลึกลับในศตวรรษที่ 13 ในงาน Njaals Saga มหากาพย์ของชาวไวกิ้ง จนถึงผลงาน Blindness ของ Jose Saramago นักเขียนรางวัลโนเบลชาวโปรตุเกส

9 พฤษภาคม
- จักรวาลฉบับอธิบายง่าย
ศาสตราจารย์ สตีเฟน ฮอว์คกิ้ง (Stephen Hawking) คว้ารางวัล Aventis Prize for the Science Books อันมีชื่อเสียงพร้อมกับเงินรางวัล 10,000 ปอนด์ จากผลงานเขียนทางวิทยาศาสตร์ของท่าน ชื่อ The Universe In A Nutshell ด้วยคำอธิบายที่ง่ายต่อความเข้าใจเรื่องราวของจักรวาลวิทยา หลุมดำ ทฤษฎีรังสี การขยายตัว เวลาแห่งการเดินทาง ศาสตราจารย์ สตีเฟน กล่าวว่า ตนเองไม่ได้แปลกใจกับรางวัล เพราะตนเองไม่เคยคิดว่าหนังสือของตนจะได้รางวัล โดยเฉพาะผลงานเล่มก่อนๆ อย่างไรก็ตามหนังสือของเขาก็มีโชคทุกเล่ม เพราะมันเป็นหนังสือขายดีจากจำนวนการตีพิมพ์ซึ่งมีกว่าจำนวนเล่มนับล้าน และเขายังนำเรื่องว่างานเขียนทางวิทยาศาสตร์มักจะกระทบใจผู้คนตราบที่เขายังมีชีวิต และผู้คนรอบโลกก็ต้องการที่จะเรียนรู้เรื่องราวโครงสร้างและของวิทยาศาสตร์อยู่ตลอดเวลา

25 มิถุนายน
- นักเขียนเยอรมนีโดนข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
หนังสือพิมพ์เสนอข่าวยกเลิกการจัดพิมพ์ผลงานนวนิยายของนักเขียนคนสำคัญของเยอรมนี โดยการกล่าวว่าผลงานชุดนี้เป็นเสมือนเอกสารนำเสนอความเกลียดชังชาวยิว โดยผลงานดังกล่าวเป็นของนักเขียนร่วมสมัยยุคหลังสงครามกับ Heinrich B?ll และ G?nter Grass นาม มาร์ติน วัลเซอร์(Martin Walser) เจ้าของผลงานนวนิยาย Tod eines Kritikers(Death of a Critic) ซึ่งจัดพิมพ์ออกมาก่อน หลังจากหนังสือวางตลาด ก็มีนักอ่านจำนวนมากเขียนจดหมายมายังหนังสือพิมพ์แนวอนุรักษนิยมของ Frankfurter ว่ามันเป็นผลงานต่อต้านชาวยิว ฝ่ายวัลเซอร์ชี้แจงทางวิทยุกล่าวว่า เขาไม่เคยมีความคิดดังกล่าวเลย แม้ว่าจะปฏิเสธอย่างไร ก็มักจะมีคนหยิบความคิดของเขาในอดีตที่เคยกล่าวถึงค่ายกักกันเอาว์วิซว่าเป็น ห้องครัวโง่ๆ ทางศีลธรรม

30 มิถุนายน
- หนังสือฮอบบิทพิมพ์ครั้งแรกมูลค่ามหาศาล
ใครมีหนังสือ ฮอบบิท (The Hobbit) พิมพ์ครั้งแรกปี 1937 ของ เจ.อาร์อาร์ โคลคิน(JRR Tolkien) จงกอดเอาไว้แน่นๆ เพราะมันได้สร้างประวัติศาสตร์การประมูลด้วยราคามูลค่า 430,020 ปอนด์ ที่ศูนย์การประมูล Sotheby ในลอนดอน นอกจากนั้นในการเสนอราคาประมูลหนังสือครั้งนี้ ผลงานวรรณกรรมพิมพ์ครั้งแรกจำนวน 250 รายการ ก็มีราคาประมูลที่นับว่าสูงเช่นเดียวกัน เช่น ผลงานเขียนของชาร์ล ดิกเก้นส์ (Charles Dickens) ราคาประมูลถึง 331,000 ปอนด์ ส่วน แฮร์รี่ พอตเตอร์ ตอนศิลาอาถรรพ์ ฉบับแนะนำตัว ราคาประมูล 10,755 ปอนด์ สำหรับนักอ่านที่ชอบขายหนังสือเก่าชนิดตั้งราคาแบบขอตั้งตัว ก็โปรดอย่าพลาดหนังสือชุดนี้ --

12 กรกฎาคม
- นักเขียนนวนิยายประวัติศาสตร์ชีวิตชาวยิวในอเมริกันเสียชีวิต
ชาอิม โปตอค (Chaim Potok) นักเขียนและนักวิชาการเจ้าของนวนิยายภาพ เสนอชีวิตชาวยิวอเมริกันที่นักอ่านรอบโลกรู้จักกันเป็นอย่างดี The Chosen (1967) ซึ่งได้รับรางวัล The Edward Lewis Wallant Award และหนังสือ The Promise (1969) และ My Name Is Asher Lev (1972) เสียชีวิตลงที่ Merion ด้วยวัย 73 สำหรับคนยิวอเมริกัน ผลงานของโปตอคเป็นที่ต้องการและได้รับการยกย่องเช่นเดียวกับผลงานของ Joseph Heller, Cynthia Ozick และ Mordecai Richler โปตอคเป็นสมาชิกของครอบครัวชาวยิวที่เกิดในนิวยอร์ก เขาสำเร็จการศึกษาทางปรัชญาจากเพนซิลวาเนีย จากนั้นก็ทำงานเป็นอาจารย์สอนหนังสือ และบรรณาธิการจัดพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับสังคมชาวยิว ผลงานของเขาเป็นเรื่องราวของขนบธรรมเนียมและวิถีชีวิตชาวยิวในสังคมอเมริกัน

23 กรกฎาคม
- บิน ลาเดน เป็นพระเอกนวนิยาย
โอซามา บิน ลาเดน (Osama Bin Laden) ชาวอัฟกันคนสำคัญของศตวรรษ จากเหตุการณ์เขย่าขวัญหัวใจชาวอเมริกัน อาจจะเป็นขวัญนักอ่านสักวาระ เมื่อเขาจะกลายเป็นตัวเอกในนวนิยายเล่มหนึ่ง ในผลงานนวนิยายเล่มใหม่ของ กิลลีซ โฟเด็น (Giles Foden) ผลงานนวนิยายชื่อ Zanzibar แน่นอน ฉากเหตุการณ์สะเทือนโลกวันที่ 11 กันยา ย่อมจะปรากฏขึ้นอย่างแน่นอน สำหรับโฟเด็น เจ้าของความคิดผลงานนวนิยายสะท้านโลก กำลังอยู่ในระหว่างการค้นข้อมูลสำหรับงานของเขา โดยผลงานของเขาจะจัดพิมพ์ราว 2 สิงหาคม ก่อนวันรำลึกเพื่อให้นักอ่านได้จับจองเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ สำหรับผลงานโดดเด่นที่ผ่านมาของเขาคืองานนวนิยาย The Last King of Scotland ซึ่งรับรางวัล Whitbread First Novel Prize ในปี 1998 นวนิยายเล่มนี้มีตัวเอกก็คือ อีดี้ อามิน (Idi Amin) จอมเผด็จการผู้พิสมัยการรับประทานเนื้อมนุษย์ชาวอูกันดาที่โลกลืมไม่ลง

13 สิงหาคม
- หญิงเหล็กแห่งซิบบับเว
คุณยายดอรีส เลสซิ่ง (Doris Lessing) นักเขียนหญิงเจ้าของผลงานนวนิยาย The Grass is Singing และ The Golden Notebook ผลงานแนวปลุกพลังตัวเก็งรางวัลโนเบลของโรดิเซีย วัย 82 ก้าวขึ้นแท่นปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์ประธานาธิบดี โรเบิร์ต มูกาเบ (Robert Mugabe) และประกาศติดตรามนุษย์สติวิปลาสให้กับเขา ในงาน Edinburgh Book Festival คุณยายเลสซิ่ง กล่าวว่า ผู้นำประเทศเป็นคนที่ชอบปฏิเสธชนพื้นเมือง ทำให้สิ่งที่เป็นไปในซิบบัมเวล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องอันตราย สิ่งแปลกประหลาด มีแต่ผู้คนที่เป็นบ้าเพราะเรื่องราวทางการเมือง หรือผู้คลั่งศาสนาที่ตายเพราะสิ่งเหล่านั้นได้ หรือไม่ก็ด้วยเหตุผลสักอย่างหนึ่ง คุณยายวัย 82 ยังคงเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างเหนียวแน่น ท่านเริ่มทำงานด้านนี้มาตั้งแต่ทศวรรษ 50 คุณยายยังกล่าวต่ออีกว่า ท่านไม่อยากคิดว่าเขาอาจจะพูดออกมาว่า ข้าต้องการทำลายซิบบับเว แต่เขาก็ทำเรื่องเลวร้ายออกมา ในระบบการปกครองของท่านประธานาธิบดี ชาวพื้นเมืองทั้งหลายขาดเงิน เครื่องมือ พวกเขามีต้นไม้ พืช ที่จะประกอบอาชีพได้ แต่ขาดความสนใจ

13 สิงหาคม
- รางวัลเกอร์เต้ทางด้านบทวิจารณ์
นักวิจารณ์ทางด้านวรรณคดี มาร์เซล ไรซ์-รานิคกี้ (Marcel Reich-Ranicki) รับรางวัลเกอร์เต้สำหรับผลงานเขียนของท่าน ชื่อเสียงของท่านที่รู้จักกันเป็นอย่างดีในฐานะสังฆราชแห่งการวิจารณ์วรรณคดีเยอรมนี ปัจจุบันรานิคกี้อายุวัย 82 นอกจากจะรับรางวัลทรงเกียรติแล้ว ผลงานเขียนของท่านก็ยังขายดีอีกด้วย สำหรับผลงานที่มีชื่อเสียงได้แก่ หนังสืออัตชีวประวัติชื่อ My Life ซึ่งมียอดจำหน่ายกว่า 500,000 เล่ม ส่วนข่าวที่ท่านตกเป็นที่สนใจอย่างมากก็เห็นจะเป็นกรณีของการปกป้องผลงานเขียน มาร์ติน วัลเซอร์ สำหรับรางวัลเกอร์เต้ มักจะมอบให้นักเขียนเยอรมนีเป็นบางปีแล้วแต่ความเหมาะสม สำหรับนักคิดนักเขียนคนสำคัญของอดีตที่เคยรับรางวัลนี้มาแล้วก็มีอาทิ เช่น Herman Hesse (1946) Thomas Mann (1949) และ Sigmund Freud (1930).

29 สิงหาคม
- นักสะสมพบเสียงของกวี
นักสะสมของเก่าชาวอาร์เจน กล่าวว่า ได้ค้นพบเทปบันทึกเสียงของกวีเอก เฟเดอริโก กาเซีย ลอว์ก้า (Federico Garcia Lorca) กวีผู้เป็นที่รักของชาวสเปน (ตามผลสำรวจความนิยมของนักอ่านชาวสเปน ยกให้เขาเป็นนักเขียนหมายเลขหนึ่งชนะเซอร์วานเตสและเซล่า) ลอว์ก้าซึ่งถูกยิงตายในสงครามกลางเมืองในช่วงปี 1936 และกลายเป็นที่สะเทือนใจของชาวสเปนนับแต่นั้น อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์มรดกของลอว์ก้า กล่าวว่า จะต้องระมัดระวังอย่างสูงสำหรับการพิจารณาสิ่งที่เอ่ยอ้าง ทางด้าน Roberto di Chiari แห่งพิพิธภัณฑ์ Lorca Museum กล่าวว่า สิ่งที่เขาพบอาจจะเป็นเทปการพูดออกอากาศของลอว์ก้าที่สถานีวิทยุแห่งหนึ่งในอาร์เจนตินาอย่างแน่นอน แต่จะหาใครมายืนยันว่าเสียงที่ได้ยินนั้นเป็นเสียงของลอว์ก้าเล่า?

22 กันยายน
- ข้อเสนอที่น่าปฏิเสธเสียตั้งแต่แรก
เมื่อหลานชายของต้นแบบเจ้าพ่อแห่งอเมริกาที่ มาริโอ พูโซ (Mario Puzo) ผู้เขียนนวนิยายเล่มดัง The Godfather นำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์คลาสสิก เดินก้าวเข้ามาปรากฏตัวขึ้น ณ สำนักพิมพ์ที่มีชื่อเสียงของนิวยอร์ก พร้อมกับยื่นข้อเสนอด้านราคาต้นฉบับที่ปฏิเสธไม่ได้ให้กับสำนักพิมพ์ เกี่ยวกับนวนิยายฆาตกรรมที่เวียนว่ายอยู่ในโลกของมาเฟีย และแล้วสำนักพิมพ์ Simon & Schuster ก็จ่ายค่าต้นฉบับล่วงหน้าให้กับ ไมเคิล แกมบิโน(Michael Gambino) ด้วยจำนวนเงิน 500,000 ดอลลาร์ (หรือ 333,000 ปอนด์) สำหรับประสบการณ์ตรงของเขาในฐานะสมาชิกของครอบครัวอาชญากรและหลานของจอมอิทธิพลแห่งอเมริกา คาร์โล แกมบิโน (Carlo Gambino) ทว่าเป็นเวลาเกือบปีแล้วหลังจากแผนการตลาดนำเสนอออกมา ทางสำนักพิมพ์ก็ออกมาสารภาพว่า พวกเขากำลังจะถูกตุ๋นเงินค่าเรื่องจนเปื่อยจากอาชญากรที่แพรวพราว เพราะความจริงแล้ว ไมเคิล แกมบิโน ที่ว่านั้น มีชื่อจริงว่า ไมเคิล เปลเลกรีโน (Michael Pellegrino) นักตุ๋นชั้นปลายแถวแถบลาสเวกัส ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องอันใดกับครอบครัวของเจ้าพ่ออเมริกาเลย แต่อย่างไรก็ตามประวัติชีวิตของเขา เปลเลกรีโน ก็เหมาะกับนิยายอาชญากรรมอยู่ไม่น้อย เพราะเขานั้นเป็นผู้ต้องหาฆ่าคนตาย ลักพาตัว กรรโชกทรัพย์ การพนัน รีดไถ ปล้นทรัพย์ ย่องเบา และรายชื่อคดีต่างๆ อีกยาวเป็นหางว่าว ซึ่งหากว่าเขาลองหาเวลาว่างนั่งลงเขียนหนังสือเกี่ยวกับตัวเองแล้วส่งกลับมายังสำนักพิมพ์ ก็อาจจะดังระเบิดกว่าท่านเจ้าพ่อแน่นอนในยุคนี้

29 กันยายน
- นักเขียนผีคว้ารางวัลโนเบล?
แล้วเกียรตินักเขียนรางวัลโนเบลก็สั่นสะเทือนอีกครั้งเมื่อนักค้นหาความจริงทางโลกวรรณกรรมนาม โทมัส การ์เซีย เยอบรา (Tomas Garcia Yebra) ประกาศว่านักเขียนรางวัลโนเบล ฆามีโล โฆเซ่ เซล่า ซึ่งเพิ่งจากโลกเมื่อต้นปี จ้างนักเขียนผีสองคนเขียนหนังสือมาสร้างสรรค์ผลงานระดับโลกของเขา นักเขียนผีทั้งสองมีนามว่า มาเซียล ซัวเรส (Marcial Suarez) และ มาเรียโน ตูเดอลา (Mariano Tudela) ซึ่งทั้งคู่ก็ตายไปก่อนเซล่าแล้ว เยอบราบรรยายว่า ทั้งสองเริ่มงานกับเซล่าตั้งแต่ทศวรรษ 50 และผลงานนวนิยายที่โดดเด่นเช่น La Colmena (The Hive) หรือ La Cruz de San Andres (St Andrew's Cross) ก็เป็นฝีมือของคนทั้งสอง แต่จะว่าไปแล้ว การเอ่ยถึงปัญหาของผลงานเขียนที่ยอมรับแล้วว่ายิ่งใหญ่ ว่าจะจริงหรือปลอม ใครจะเขียนหรือใครจะไม่เขียนอย่างไรนั้น เราจะสรรหาประโยชน์อะไรหรือ? อีกทั้งนักเขียนสามคนก็จากโลกไปพร้อมกับเหตุผลของพวกเขา แล้วคณะทำงานของพวกเขาก็ได้มอบผลงานอันยิ่งใหญ่เอาไว้กับโลกมิใช่หรือ? แม้ว่าสองในสามยินดีที่จะไม่เอ่ยนามก็ตาม

9 ตุลาคม
นักเขียนฮังการีคนแรกคว้ารางวัลโนเบล แล้วโลกก็ต้องส่งดอกไม้แสดงความดีใจกับประเทศฮังการี ประเทศเล็กๆ ที่ได้รับการเอ่ยชื่อขึ้นมาเป็นครั้งแรกในรอบร้อยปี เมื่อนักเขียนแถวหน้าของพวกเขานาม อิมเร่ เคอร์เตส (Imre Kertesz) นักเขียนที่สร้างผลงานอันโดดเด่นเกี่ยวกับประสบการณ์ของตน ในค่ายกักกันของพวกนาซีในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ให้กลายเป็นนักเขียนรางวัลโนเบลคนแรกของฮังการี เคอร์เตส วัย 72 เป็นเจ้าของหนังสือสำคัญที่นักอ่านหันมาสนใจเรื่องอ่านเล่นเพลินๆ เสียมากจนลืมว่า มีผลงานสำคัญของเขา นักเขียนคนหนึ่ง ชื่อ Sorstalansag (Fateless) ซึ่งจัดพิมพ์ในปี 1975 จากนั้นหนังสือเล่มนี้ก็ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ ในปี 1992 แต่ชาวโลกดาวภาษาอังกฤษก็เฉยเมยอีกเช่นกัน จนกระทั่งเขากลายเป็นเจ้าของรางวัลโนเบล นักอ่านทั้งหลายจึงกล่าวยกย่องเขาอย่างยิ่งใหญ่ อย่างไรก็ตามเขากล่าวว่าแม้ตนเองจะแปลกใจและมีความสุข แต่ในใจเขาก็คิดถึงเรื่องของค่ายกักกัน และการล้างเผ่าพันธุ์มากกว่าสิ่งอื่นใด

10 ตุลาคม
- นักเขียนฝรั่งเศสกับการล่วงละเมิดศาสนาอิสลาม
กลุ่มชาวมุสลิมกล่าวฟ้องว่า นักเขียนฝรั่งเศส มิเชล อูเลอเบ็กค์ ( Michel Houellebecq) ปลุกปั่นให้เกิดกระแสเหยียดเชื้อชาติจากการให้สัมภาษณ์ของเขาในผลงานนวนิยายล่าสุดของเขา Platform โดยองค์กรสันนิบาตแห่งชาติของชาวมุสลิมฝรั่งเศส ทั้งสี่กลุ่มร่วมกันกล่าวฟ้อง แต่นิตยสาร Lire ซึ่งสัมภาษณ์เขา ออกมาปกป้องความคิดเห็นของเขา สำหรับเนื้อหาบทสัมภาษณ์นั้น อูเลอเบ็กค์ กล่าวอย่างลบหลู่ อย่างไรก็ตาม อูเลอเบ็กค์ก็แก้ต่างว่าเขาไม่เคยคิดที่จะเขียนอะไรที่เป็นการลบหลู่ศาสนา เขาเพียงแต่แสดงความเห็นตรงไปตรงมาเช่นเดียวกับการแสดงความคิดเห็นในไบเบิล

22 ตุลาคม
- การปรากฏตัวครั้งสุดท้ายของนักเขียนอาวุโสของอเมริกา
เคิร์ท วอนเนกัท จูเนียร์ (Kurt Vonnegut) นักเขียนอาวุโสวัย 80 ของอเมริกา ปรากฏตัวเป็นเวลานานกว่าสองสามชั่วโมงในการดูแลการสร้างอาคาร ที่นำชื่อของ Bernard Vonnegut ปู่ของเขามาตั้งเป็นชื่ออาคาร สำหรับการปรากฏตัวของเขา อาจกล่าวว่านี่จะเป็นครั้งสุดท้ายที่เขาจะปรากฏตัวต่อสาธารณชน วอนเนกัท จูเนียร์ เป็นนักเขียนชั้นนำของอเมริกา ผลงานนวนิยายชิ้นเยี่ยมของเขาคือ Slaughterhouse Five พิมพ์ครั้งแรกปี 1969 ซึ่งสร้างจากประสบการณ์ของนักโทษชาวยุโรปคนหนึ่งในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ช่วงศตวรรษที่ 90 เขาประกาศหยุดเขียนหนังสือด้วยเหตุผลที่นักอ่านเลิกอ่านหนังสือกันแล้ว นักเขียนอย่างเขาจะเขียนมันออกมาทำไม

16 พฤศจิกายน
- รางวัลบุคเกอร์ไพรซ์ 2002
นักเขียนแคนาดาคว้ารางวัลสำคัญของอังกฤษ เขามีนามว่า ยาน มาร์เทล (Yann Martel) สำหรับผลงานรางวัลของเขาชื่อ Life of Pi และแม้ว่าภายหลังผลงานของเขาจะมีข่าวว่ารับแรงบันดาลใจมาจากนักเขียนบราซิลจนน่าเกลียด แต่สิ่งที่ตามมานั้นมหาศาลนัก เพราะหลังจากประกาศชื่อของเขา หนังสือชีวิตของเด็กน้อยกับเสือในเรือลำเดียวกัน ถูกจัดพิมพ์ออกมาทันทีมากกว่า 7 พันเล่ม และประเมินกันว่าภายในช่วงเวลาสามเดือนกว่า หนังสือของเขาจะมียอดพิมพ์สูงถึง 1 แสนเล่ม แต่หากว่านักเขียนบราซิลเจ้าของโครงเรื่องต้นแบบ ชนะการฟ้องร้องจากเขา ยอดจำหน่ายหนังสือคงต้องเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว

4 พฤศจิกายน
- รางวัลสำคัญประดับเกียรติให้กับผลงานชิ้นแรกของนักเขียนเล็กๆ กับกวีอายุมาก
จูเรีย กราสส์ (Julia Glas) นักเขียนโนเนมก้าวขึ้นมาประกาศชื่อให้ทุกคนจดจำไปตลอดกาล เมื่อนวนิยายเรื่องแรกของเธอชื่อ Three Junes ถูกประดับรางวัล National Book Award สำหรับผลงานเรื่องแต่ง Three Junes เป็นเรื่องราวของครอบครัวชาวสกอตที่จำต้องเดินทางพเนจรผ่านแผ่นดินสามประเทศ ด้วยบรรยากาศและเนื้อหาที่สร้างอารมณ์ลังเล หรรษา อารมณ์รัก และเรื่องประทับใจของสามีภรรยา ครอบครัว เด็ก ชาวบ้าน และสัตว์ สำหรับรางวัลผลงานเขียนตกเป็นของ โรเบิร์ต เอ. คาโล (Robert A. Caro) จากผลงาน Master of the Senate: The Years of Lyndon Johnson อัตชีวประวัติของประธานาธิบดีของอเมริกัน หนังสือเล่มนี้นับเป็นผลงานเล่มที่สามของคาโลที่เขียนเกี่ยวกับอัตชีวประวัติบุคคล ส่วนผลงานเขียนด้านบทกวี เป็นของ รูท สโตน (Ruth Stone) คุณยายนักกวีวัย 87 สำหรับรวมบทกวี 8 ชุด ชื่อ In the Next Galaxy สำหรับคุณยายสโตนซึ่งแจกอารมณ์ขันเข้าให้ว่า เพราะว่าแกเป็นคนแก่ใช่มั้ยถึงให้รางวัล

21 พฤศจิกายน
- จีนสั่งต้องห้ามหมูอันตราย
ผู้กำกับละคร ฉาง เชียงจุน (Shang Chengjun) ตกเป็นกังวลต่อการเซ็นเซอร์ ซึ่งมีแนวโน้มว่าผลที่จะออกมาเป็นการสั่งห้ามละครเวทีที่เขาดัดแปลงจากนวนิยายเสียดสีการปกครองเรื่อง Animal Farm ของนักเขียนผลงานคลาสสิก จอร์จ ออเวลล์ (George Orwell) ซึ่งเป็นธรรมดาของเจ้าหน้าที่การปกครองฝ่ายวัฒนธรรม ที่มักจะสั่งห้ามหนังสือและหนังอย่างรวดเร็ว สำหรับบทละครดัดแปลงของเชียงจุน ซึ่งประสบกับปัญหาหลักเกี่ยวกับความคิดหุนหันพลันเเล่นของเจ้าหมูนโปเลียน ซึ่งสร้างการตั้งข้อสงสัยให้กับเจ้าหน้าที่เป็นอย่างมาก เชียงจุนว่าพวกเจ้าหน้าที่ไม่เข้าใจความคิดของเรื่อง ก็อาจจะเป็นความจริง เพราะในโลกประชาธิปไตย ผลงานของออเวลล์ก็ถูกมองว่าเป็นผลงานที่เอนเอียงเข้าหาแนวความคิดสังคมนิยม

25 พฤศจิกายน
- งานโพสต์โมเดิร์นกับศีลธรรม
เมื่อนักเขียนนวนิยายและเรื่องสั้นของรัสเซียนามว่า วิคตอร์ เยโรเฟอเยฟ (Viktor Yerofeyev) จัดพิมพ์ผลงานเขียนบทความของตน ในปี 1979 ปรากฏว่าทางการของรัสเซียตั้งข้อกล่าวหาว่า เยโรเฟอเยฟ พิมพ์ผลงานหนังสือลามกออกมาอย่างท้าทาย ครั้งนั้นเยโรเฟอเยฟถูกโจมตีอย่างหนักอยู่เป็นเวลา 8 ปี ปัจจุบัน เยโรเฟอเยฟอายุ 55 กลายเป็นนักเขียนผลงานผสมผสานความคิดระหว่างปรัชญาและเรื่องอิโรติก และเขากำลังตั้งเป้าโจมตีเรื่องราวของสงครามครูเสดที่แน่นอนว่ามีเหตุจากเรื่องทางเพศ แน่นอน คราวนี้เยโรเฟอเยฟจะต้องปะทะกับอดีตเจ้าหน้าที่เคจีบีเครียดที่ติดตามเขามาตั้งแต่อดีต ปัจจุบันเป็นประธานาธิบดีของประเทศ นามว่า วลาดิมีร์ ปูติน และทัศนคติถากถางศีลธรรมแบบการเมืองของพรรคสังคมนิยม ย่อมต้องสร้างความขุ่นเคืองให้กับทางการอย่างแน่นอน แม้ว่าสิ่งที่เยโรเฟอเยฟกระทำจะพูดถึงอิสรภาพทางความคิด ซึ่งเขาค้นพบว่าวรรณกรรมของรัสเซียน่าตำหนิมาตั้งแต่ยุคสมัยของพระเจ้าซาร์ ผ่านยุคการปกครองแบบป่าเถื่อน จวบจนยุคอินเทอร์เน็ต ซึ่งทำให้ความคิดและคุณภาพชีวิตชาวรัสเซียเลวลง กระนั้นก็ตาม นักเขียนที่เริ่มต้นจัดพิมพ์หนังสือเล่มแรกเกี่ยวกับ มาควิส เดอ ซาด และเล่มล่าสุดที่เป็นหนังสือเกี่ยวกับการเดินทางที่ออกแบบภาพปกด้วยภาพเปลือยอย่าง วิคตอร์ เยโรเฟอเยฟ นักเขียนยุคโพสต์โมเดิร์น ที่มีแนวทางการเขียนแบบขวานผ่าซากสังคม ย่อมไม่ปล่อยให้สิ่งที่ผ่านมานั้นผ่านสายตาของเขาไปได้โดยง่าย

9 ธันวาคม
บทสรุปสำหรับเหตุการณ์ทั้งปวงบนโลกวรรณกรรม อาจจะดูเหมือนเป็นความเคลื่อนไหวเบาๆ ของโลก ทว่าเมื่อใดก็ตามที่โลกวรรณกรรมหยุดการเคลื่อนไหว ย่อมแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าโลกนั้นหยุดเคลื่อนไหวเช่นเดียวกัน

ดังนั้น ขอให้ทุกอย่างเคลื่อนไหวต่อไป จะเร็วหรือช้าก็ตามใจ

แหล่งที่มา : คอลัม รอบโลกวรรณกรรม : โดยวีระยศ สำราญสุขทิวาเวทย์
จุดประกายวรรณกรรม : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ, วันอาทิตย์ที่ 29 ธันวาคม 2545

  • สินค้าที่เกี่ยวข้อง
    คลิกดูรายละเอียด

  •  

    Top
    E-Mail

    Password


    Community
    Activity
    Photo Contest
    Bey Blade
    Cartoon 9
    Chat Room
    D-3
    D-Terminal
    D-Power
    Digimon
    Download
    Market Place
    Micro pet
    Quiz
    Can not select dB